คำกริยาเกี่ยวกับการตัด, ฟัน, หั่น, ผ่า ฯลฯ ที่น่าสนใจในภาษาจีน เป็นคำกริยาที่เกี่ยวข้องกับการใช้อุปกรณ์เครื่องมือ เช่น มีด, ขวาน หรือของมีคม ทำให้สิ่งของแยกออกจากกัน หรือขาดออกจากกัน แต่วิธีการไม่เหมือนกัน
1.“砍” กับ“剁” 2 คำนี้ เป็นการใช้มีด หรือขวานทั้งคู่, ต่างกันที่ “砍” แปลว่า “ฟัน” หรือ “ตัด” เป็นกริยาการถือมีด หรือขวานออกแรงตัด หรือฟันจากด้านข้าง (เฉียง) หรือแนวนอน ทำให้สิ่งของแยกออก, ขาดออกจากกัน เช่น 砍树 (ตัดต้นไม้)、砍木头 (ตัดไม้)、砍树枝 (ตัดกิ่งไม้)、砍柴 (ตัดฟืน)、砍头 (ตัดศีรษะ) เป็นต้น
“砍”ในภาษาจีนท้องถิ่น หมายถึงกริยา “ขว้าง” หรือ “เหวี่ยง” สิ่งของด้วย
คำที่น่าสนใจ เช่น 砍刀(มีดตัดฟืน)、砍伐 (โค่น (ต้นไม้))
ส่วน “剁”แปลว่า “สับ” เป็นการใช้แรงกระแทกขึ้นลง (บนแผ่นกระดาน เช่น เขียง เป็นต้น) เพื่อทำให้สิ่งของนั้นแยกออกจากกัน หรือแตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย เช่น 剁白菜 (สับผักกาดขาว)、剁饺子馅儿 (สับไส้ทำเกี๊ยว)
2.“割”、”切”、”片”、”拉”(lá)เป็นกริยาที่ใช้มีด (เป็นส่วนใหญ่)
“割”ใช้มีด “ตัด” สิ่งของ (คมมีดจะตัดเข้าไปในเนื้อสิ่งของ) ให้ขาดออกจากกัน เช่น 割稻 (เกี่ยวข้าว)
คำที่น่าสนใจ เช่น 割胶;割漆 (กรีดยาง, กรีดเปลือกยางให้น้ำยางไหลออกมา)、割礼 (พิธีสุหนัตของอิสลาม)
“切” ใช้มีด “หั่น” หรือ “ตัด” สิ่งของจากแนวตั้ง ให้เป็นชิ้น หรือเป็นก้อน (块), เป็นแผ่นบางๆ (片)หรือเป็นเส้น (条)ก็ได้ เช่น 切西瓜 (หั่นแตงโม)、切成块 (หั่นเป็นชิ้น)
คำที่น่าสนใจ เช่น 切面 (หมี่ที่ตัดเป็นเส้น)、切片 (หั่นเป็นแผ่นบางๆ)
“片” ใช้มีด “หั่น” หรือ “ตัด” สิ่งของ (ในแนวขึ้นลง) ให้เป็นแผ่นบางๆ เช่น 片肉片儿 (ตัดเนื้อเป็นแผ่นบางๆ)、把萝卜片一片 (หั่นหัวไชเท้าเป็นชิ้น เป็นแผ่น (ภาษาไทยมักใช้ว่า “เป็นแว่น”))
“拉” (lá)ใช้มีด “กรีด” หรือ “ตัด” ลงบนพื้นผิวของสิ่งของเป็นเส้น หรือแนวตรง เพื่อให้สิ่งของนั้น แตกออก, แยกออก หรือขาดออกจากกัน เช่น 皮子拉开了(แผ่นหนังถูกกรีด (ตัด) ออกแล้ว)
“拉” จะแปลว่า “แตก” หรือ “ปริ” ออกจากกันก็ได้
3.”剪” ใช้กรรไกร “ตัด” สิ่งของที่เป็นแผ่น หรือเป็นเส้นให้ขาดออกจากกัน เช่น 剪纸 (ตัดกระดาษ)、剪报 (ตัดข่าวหนังสือพิมพ์)
4.“锯” ใช้เลื่อย “ตัด” หรือ “เลื่อย” สิ่งของให้ขาดออกเป็นท่อน, เป็นชิ้น, เป็นแผ่น ฯลฯ เช่น 锯树 (เลื่อยต้นไม้)、锯木头 (เลื่อยไม้)
ถ้าสังเกตให้ดี คำกริยาเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะมีมีด (刀) หรือของมีคม (刂,立刀旁) เป็นส่วนประกอบ ยกเว้น “拉”(ความหมายเดิม แปลว่า “ลาก” หรือ “ดึง”),“锯”(คำนาม คือ “锯子”(เลื่อย))
CR.Gunthasith Lertpraingam