“的”、”地” และ “得”

CR.Gunthasith Lertpraingam

“的”、”地” และ “得”  ทั้ง 3 คำนี้ ล้วนเป็นคำเสริมโครงสร้าง (结构助词) และออกเสียงเหมือนกันหมด คือ “de” ต่างกันตรงวิธีการใช้งาน

1. “的” เป็นคำเสริมโครงสร้าง หรือเครื่องหมายของบทขยายนาม (定语) โดย “的” จะวางอยู่หลังบทขยายนาม เพื่อบอกให้รู้ว่า คำ หรือวลีที่อยู่ข้างหน้า “的” คือบทขยายนาม (定语) หรือขยายคำนาม (รวมถึงคำที่มีคุณสมบัติเหมือนคำนาม) หรือจะเรียกว่า “中心语” ที่อยู่ข้างหลัง (ก็ได้)  โดยมีโครงสร้างการเรียงลำดับคำ ดังนี้

  • “บทขยายนาม (定语) + 的 + คำที่ถูกขยาย หรือ 中心语”

ตัวอย่างเช่น

  • 老师的书。
  • 学生的本子。
  • 我的朋友。
  • 明天的会议。
  • 谁的钥匙。

2. “地” เป็นคำเสริมโครงสร้าง หรือเครื่องหมายของบทขยายภาคแสดง (状语) โดย “地” จะวางอยู่หลังบทขยายภาคแสดง (谓语) (เช่น คำกริยา หรือคำคุณศัพท์) เพื่อบอกให้รู้ว่า คำ หรือวลีที่อยู่ข้างหน้า “地” คือบทขยายภาคแสดง (状语) หรือคำที่มีคุณสมบัติเหมือนภาคแสดง (谓语) หรือจะเรียกว่า 中心语 (ก็ได้เหมือนกัน) ที่อยู่ข้างหลัง โดยมีโครงสร้างการเรียงลำดับคำ ดังนี้

  • “บทขยายภาคแสดง (状语) + 地 + คำที่ถูกขยาย หรือ 中心语”

ตัวอย่างเช่น

  • 满满地站起来。
  • 认真地想。

3. “得” เป็นคำเสริมโครงสร้าง หรือเครื่องหมายของบทเสริม (补语) โดย “得” จะวางอยู่หน้าบทเสริม เพื่อบอกให้รู้ว่า คำ หรือวลีที่อยู่หลัง “得” คือบทเสริม (补语) ทั้งนี้ คำที่อยู่หน้า “得” มักจะเป็นภาคแสดง หรือคำที่มีคุณสมบัติเหมือนภาคแสดง (谓语) โดยมีโครงสร้างการเรียงลำดับคำ ดังนี้

  • “ภาคแสดง (谓语) + 得 + คำเสริม (补语)”

ตัวอย่างเช่น

  • 做得好。
  • 做得不(太)好。
  • 好得很。
  • 打得不错。
  • 打扫得干干净净。
  • 忙得连饭都顾不上吃了。
  • 他气得浑身直发抖。

*** นอกจากนั้น “得” ยังสามารถวางอยู่หลังคำกริยา หรือระหว่างคำกริยา (谓语) กับบทเสริม (补语) เพื่อแสดงถึงความเป็นไปได้ (可能) ได้อีกด้วย เช่น 听得懂、听不懂 (รูปปฏิเสธ)

4. ที่กล่าวมา (3. ข้อ) ข้างต้น เป็นวิธีการใช้งานพื้นฐาน หรือทั่วไป นอกจากนั้น ยังอาจมีบางกรณีที่มีการใช้งาน “的”、”地”และ “得” ที่ซับซ้อน หรือปนกันได้ ดังนี้

4.1

  • “คำคุณศัพท์ (形容词) + 的/地 + คำกริยา (动词)”

โครงสร้างนี้ อาจใช้ “的” หรือ “地” ก็ได้ ขึ้นกับว่า คำ หรือวลีนั้น ทำหน้าที่อะไรในประโยค กล่าวคือถ้าทำหน้าที่เป็นภาคประธาน (主语) หรือบทกรรม (宾语) ก็ต้องใช้ “的” แต่ถ้าทำหน้าที่เป็นภาคแสดง (谓语) ก็ต้องใช้ “地” ตัวอย่างเช่น

  • 他科学地论证了这一原理。(”论证” เป็นภาคแสดง)
  • 他对这一原理进行了科学的论证。(”论证” เป็นบทกรรม)

4.2

  • “คำกริยา (动词) + 的/得 + คำ หรือวลีที่มีคุณสมบัติ หรือทำหน้าที่เหมือนภาคแสดง (谓词性词或词语)”

โครงสร้างนี้ อาจใช้ “的” หรือ “得” ก็ได้ ขึ้นกับว่า คำ หรือวลีนั้น ทำหน้าที่อะไรในประโยค กล่าวคือถ้า คำกริยา (动词) + de ทำหน้าที่เป็นภาคประธาน (主语) ก็ต้องใช้ “的” แต่ทำหน้าที่เป็นภาคแสดง (谓语) ก็ต้องใช้ “得”

  • 她唱的很动听。(”唱的” เป็นภาคประธาน)
  • 她唱得很动听。(”唱得很动听” เป็นส่วนหนึ่งของภาคแสดง)
  • 老师说的很有道理。(”说的” เป็นภาคประธาน)
  • 老师说得很有道理。(”说得很有道理” เป็นส่วนหนึ่งของภาคแสดง)

*** นอกจากนั้น “的” ยังสามารถวางหลังคำนาม, คำสรรพนาม, คำคุณศัพท์ หรือวลี ฯลฯ โดยละ หรือไม่จำเป็นต้องมีคำที่ถูกขยาย หรือ 中心语 โครงสร้างคำแบบนี้มีคุณสมบัติ หรือทำหน้าที่เหมือนคำนามคำหนึ่ง เช่น

  • 马路上骑自行车的特别多。
  • 这些东西,好的放在这儿,怀的,把它扔掉。

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น

error: Content is protected !!