ภาษาจีนเรียกชนกลุ่มน้อยนี้ว่า ปู้อี (布依族 Bùyī zú) แต่นักภาษาศาสตร์เรียกชื่อชนกลุ่มและภาษาที่ชนกลุ่มนี้พูดนี้ว่า “ปูเยย” อาศัยอยู่ในเขตปกครองตนเองเฉียนหนาน(黔南 Qián nán) เฉียนซีหนาน(黔西南 Qiánxīnán) เผ่าปูเยยและเผ่าเหมียว(布依族苗族自治州Bùyī Zú Miáo Zú zìzhìzhōu ) ในเขตเมืองอานซุ่น (安顺 Ānshùn) และเมืองกุ้ยหยาง (贵阳 Guìyánɡ) นอกจากนี้ยังมีบางส่วนกระจัดกระจายอาศัยอยู่ในบริเวณเขตปกครองตนเองเฉียนตงหนาน เผ่าเหมียวและเผ่าต้ง (黔东南苗族侗族自治州 Qiándōnɡnán Miáo Zú Dònɡ Zú zìzhìzhōu) อำเภอถงเหริน (铜仁Tónɡrén) ของเมืองจุนอี้ (遵义市 Zūnyì) อำเภอปี้เจี๋ย(毕节 Bìjié)ของเมืองลิ่วผานสุ่ย (六盘水 Liùpánshuǐ) และเมืองหลัวผิง (罗平Luó pínɡ) ของมณฑลยูนนาน เมืองหนิงหนาน (宁南 Nínɡnán) และเมืองฮุ่ยหลี่ (会理Huìlǐ) ของมณฑลเสฉวน จากการสำรวจจำนวนประชากรครั้งที่ 5 ของจีนในปี 2000 ชนกลุ่มน้อยเผ่าปูเยยมีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 2,971,460 คน พูดภาษาปูเยย จัดอยู่ในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต สาขาจ้วง-ต้ง แขนงจ้วง-ไต เป็นภาษาที่มีความใกล้ชิดกับภาษาจ้วงมาก ภาษาจ้วงสำเนียงจ้วงเหนือ เหมือนกันกับภาษาปูเยยที่พูดกันในตำบลวั่งโม่ (望漠 Wànɡmò) เช่อเฮิง (册亨Cèhēnɡ) ตู๋ซาน (独山 Dúshān) อานหลง(安龙Ānlónɡ) และตำบลซิ่งอี้ (兴义 Xìnɡyì) เดิมทีก่อนการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ชนเผ่าปูเยยไม่มีภาษาเขียน และใช้อักษรจีนมาตลอด หลังการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนแล้ว มีการสร้างภาษาเขียนเป็นของตนเองโดยใช้อักษรภาษาลาติน
นักวิชาการส่วนใหญ่เชื่อกันว่า ชาวปูเยยสืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษชาวร้อยเผ่าที่ชื่อว่า “ป่ายเยว่”( 百越Bǎi yuè) ชาวปูเยยมีชื่อเรียกตัวเองหลายชื่อแตกต่างกันไปตามท้องที่ เช่น ปู้อี (布依Bùyī) ปู้หย่าอี (布雅伊Bùyǎyī) ปู้จ้ง(布仲Bùzhònɡ) ปู้หราว (布饶Bùráo) ปู้ม่าน(布曼Bùmàn) ในบันทึกสมัยโบราณของจีนมีคำเรียกชนกลุ่มนี้หลายชื่อ เช่น เหลียว (僚Liáo) หมาน (蛮Mán) จ่งเจีย (仲家Zhònɡjiā) หลี่เหลียว (俚僚Lǐ Liáo) หมานเหลียว (蛮僚 Mán Liáo) อี๋เหลียว(夷僚Yí Liáo)เป็นต้น จากการวิเคราะห์ชื่อเรียกชาวปูเยยทั้งอดีตและปัจจุบัน รวมทั้งถิ่นที่อยู่พบว่า ชาวปูเยยมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดร่วมเชื้อสายกับชาวจ้วง (壮族Zhuànɡ Zú) ตั้งแต่สมัยเว่ยจิ้นหนานเป่ย (魏晋南北Wèi Jìn Nán Běi) ถึงสมัยถัง รวมชาวปูเยยและชาวจ้วงเป็นกลุ่มเดียวกันเรียกชื่อว่าหลี่เหลียว (俚僚Lǐ Liáo) หมานเหลียว(蛮僚 Mán Liáo) และอี๋เหลียว(夷僚Yí Liáo) หลังยุคห้าราชวงศ์(五代Wǔdài) เรียกชาวปูเยยว่า จ่งเจีย (仲家Zhònɡjiā) ในสมัยซ่ง เรียกชาวจ้วงว่า “ถง” (僮Tónɡ) ซึ่งเป็นเสียงเดียวกันกับคำที่เรียกชาวปูเยย เพียงแต่เขียนต่างกันเท่านั้น จากนั้นมาชนเผ่าเดียวกันแต่อยู่ต่างถิ่นกันนี้ด้วยเหตุที่แยกออกจากกันเป็นเวลานาน ทำให้วัฒนธรรมประเพณีจึงต่างฝ่ายต่างสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตน กระทั่งแบ่งออกเป็นชนกลุ่มน้อยสองกลุ่มในที่สุด นอกจากนี้ยังมีอีกกระแสหนึ่งเชื่อว่าชาวปูเยยสืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษชื่อ ป่ายผู(百濮 Bǎipú) และยังมีบางฝ่ายเชื่อว่าชาวปูเยยคือชนชาติเย่หลาง(夜郎Yèlánɡ) เพราะในปลายสมัยจ้านกว๋อ ประเทศเย่หลางได้เข้ามาครอบครองดินแดนที่เป็นถิ่นที่อยู่ของชาวปูเยยในปัจจุบัน
การขุดค้นทางประวัติศาสตร์ในบริเวณถิ่นที่อยู่ของชาวปูเยยพบไถ จอบ เสียม พลั่ว ที่ทำด้วยโลหะสำริดและเหล็กที่ใช้สำหรับการเกษตรและทำนา ซึ่งตรงกับพงศาวดารประวัติศาสตร์ของจีนที่ชื่อ สื่อจี้《史记》Shǐjì ที่บันทึกเอาไว้เกี่ยวกับปิ่นปักผมเหล็กและไถของชาวเย่หลาง ซึ่งมีลักษณะตรงกัน แสดงให้เห็นว่าชาวปูเยยเป็นกลุ่มชนที่รู้จักการปลูกข้าวมาแต่โบราณกาลแล้ว ในสมัยถัง จักรพรรดิจงหยวนได้สถาปนาเมืองจีหมี (羁縻Jīmí) ขึ้นที่บริเวณถิ่นฐานของชาวปูเยย โดยใช้ชาติพันธุ์ของประชาชนเป็นเกณฑ์ในการแบ่ง
ต้นราชวงศ์หมิงและชิงเกิดระบบหัวหน้าชนเผ่าขึ้น หัวหน้าเผ่ามีกรรมสิทธิ์ที่ดินในบริเวณที่ตนปกครอง รวมทั้งมีสิทธิ์ปกครองชาวเมืองในบริเวณของตน ในสมัยนั้นหัวหน้าเผ่ากดขี่แรงงานและขูดรีดประชาชน อีกทั้งยังมีการใช้กฎการควบคุมที่ดินต่อชาวปูเยยด้วย มีการเกณฑ์ประชากรและทหารเพื่อทำนาเก็บเกี่ยวผลผลิตส่งให้รัฐ ต่อมาบริเวณนี้เปลี่ยนแปลงระบบการถือครองที่ดินมาเป็นเจ้าของที่ดินถือกรรมสิทธิ์ ตั้งแต่ปลายราชวงศ์หมิงจนถึงต้นราชวงศ์ชิง ระบบเศรษฐกิจสังคมของชาวปูเยยพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น การครอบครองควบคุมประชาชนและที่ดินของหัวหน้าเผ่าเกิดมีการเปลี่ยนแปลง จำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น เริ่มมีการเช่าที่นาและการซื้อขายที่นาเกิดขึ้น หัวหน้าเผ่าที่แต่เดิมเคยเป็นผู้กุมอำนาจ เคยเป็นผู้ควบคุมและขูดรีดผลผลิตจากประชาชนก็เริ่มตกต่ำและข้นแค้นขึ้นเพราะเก็บผลผลิตจากประชาชนไม่ได้ ในที่สุดก็ขายที่ดินที่เคยมีให้กับชาวฮั่น จนถึงสมัยจักรพรรดิหย่งเจิ้งแห่งราชวงศ์ชิงมีนโยบายเอาที่ดินกลับมาเป็นของรัฐ ระบบถือกรรมสิทธิ์ที่ดินและตัวประชากรของหัวหน้าเผ่าหมดไป นับแต่นั้นมาระบบเศรษฐกิจของชาวปูเยยจึงพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ
เศรษฐกิจสังคมของชาวปูเยยเริ่มพัฒนาก้าวหน้าขึ้นมากในสมัยฉินและฮั่น โดยเฉพาะวิวัฒนาการด้านการเกษตร อันเป็นผลมาจากการพัฒนาระบบสังคมแบบศักดินาในสมัยฮั่นนั่นเอง ชนเผ่าปูเยยถูกปกครองด้วยระบบการปกครองแบบประเทศพันธมิตรและระบบหัวหน้าเผ่ามาโดยตลอด จนกระทั่งถึงปลายราชวงศ์หมิงถึงต้นราชวงศ์ชิงวิวัฒนาการทางการเกษตรของชาวปูเยยพัฒนาขึ้นไปอีกขั้น เช่น จอบเสียมที่เคยใช้แบบขนาดเล็กและน้ำหนักเบากลับเปลี่ยนมาเพิ่มน้ำหนักมากขึ้น ขนาดยาวและใหญ่ขึ้น การกระเทาะเปลือกข้าวเดิมใช้วิธีตำ การนวดข้าวใช้ไม้ทุบ พัฒนามาเป็นการนวดแบบฟาดข้าว ทำให้กำลังการผลิตสูงขึ้น ผลผลิตที่ได้ก็มีจำนวนมากขึ้น นอกจากนี้ชาวปูเยยในพื้นที่เมืองหลัวเตี้ยน (罗甸Luódiàn) อานหลง (安龙 Ānlónɡ) ผิงถาง(平塘Pínɡtánɡ) ยังรู้จักวิธีการชลประทานโดยใช้กังหันวิดน้ำ เมื่อเทคนิคการทำการเกษตรก้าวหน้า ได้ผลผลิตดีขึ้น ชาวบ้านมีฐานะดีขึ้น นำไปสู่การเกิดระบบการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินขึ้น
หลังจากปี 1840 สงครามฝิ่นจบลง ระบบกษัตริย์ครอบคลุมบริเวณเฉียนหนาน(黔南Qián nán) ระบบศักดินาในกลุ่มชนปูเยยก็ค่อยๆล่มสลายไป เกิดเป็นระบบสังคมกึ่งอาณานิคมกึ่งศักดินา ด้วยความกดดันของระบบกษัตริย์และระบบศักดินานี้ ทำให้ชาวปูเยยตกอยู่ในภาวะยากจนข้นแค้น นับตั้งแต่เริ่มมีการรวมประเทศ ชาวปูเยยต้องเผชิญกับความโหดร้ายของระบบกษัตริย์ ระบบศักดินา และระบบเจ้าขุนมูลนาย ชีวิตของชาวปูเยยตกอยู่ในสภาพผู้ถูกกระทำ ยิ่งทวีความลำบากอย่างแสนสาหัส ไม่มีสถานภาพและสิทธิใดๆทางการเมือง การพัฒนาระบบเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของชนเผ่าหยุดชะงัก จนถึงปี 1944 กองทัพทหารญี่ปุ่นรุกราน บริเวณเฉียนหนานซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวปูเยยส่วนใหญ่ก็ถูกย่ำยีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หลังจากปี 1945 รัฐบาลกว๋อหมินตั่งมีนโยบายควบคุมและต่อต้านชนกลุ่มน้อยอย่างรุนแรง และไม่ยอมรับการมีอยู่ของชนเผ่าปูเยย
หลังการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน มีนโยบายเกี่ยวกับการปฏิวัติวัฒนธรรมมากมาย ล้มล้างระบบศักดินา ล้มล้างระบบการปกครองแบบกดขี่ประชาชน และเริ่มมีการสนับสนุนอุตสาหกรรมในแต่ละภาคส่วน ทั้งในระดับครัวเรือนจนถึงระดับตำบลและจังหวัด ด้วยนโยบายเกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยของรัฐบาลใหม่นี้เอง รัฐบาลได้สถาปนาบริเวณถิ่นที่อยู่อาศัยของชาวปูเยยให้เป็นเขตปกครองตนเองชนกลุ่มน้อยเผ่าปูเยยขึ้นหลายแห่ง ดังนี้
ปี 1956 ก่อตั้งเขตปกครองตนเองชนกลุ่มน้อยเผ่าปูเยยและเหมียวที่เมืองเฉียนหนาน (黔南布依族苗族自治州Qiánnán Bùyī Zú Miáo Zú zìzhìzhōu)
ปี 1963 ก่อตั้งอำเภอปกครองตนเองชนกลุ่มน้อยเผ่าปูเยยและเหมียวที่เมืองเจิ้นหนิง (镇宁布依族苗族自治县Zhènnínɡ Bùyī Zú Miáo Zú zìzhìxiàn)
ปี 1982 ได้ก่อตั้งเขตปกครองตนเองเผ่าปูเยยขึ้นที่เฉียนซีหนาน (黔西南布依族自治州Qiánxīnán Bùyī Zú zìzhìzhōu) และอำเภอปกครองตนเองชนกลุ่มน้อยเผ่าปูเยยและเหมียวเมืองกวานหลิ่ง (关岭布依族苗族自治县Guānlǐnɡ Bùyī Zú Miáo Zú zìzhìxiàn)
การก่อตั้งเขตปกครองตนเองชนกลุ่มน้อยตามนโยบายของรัฐที่สนับสนุนการให้สิทธิชนกลุ่มน้อยมีอำนาจทางการเมืองและอำนาจการปกครองตนเองเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ปัจจุบันสังคมชาวปูเยยเปลี่ยนแปลงไปกว่าเดิมมาก ก่อนการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ชนเผ่าปูเยยไม่มีผลผลิตทางอุตสาหกรรมใดๆเลย แต่หลังการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนชาวปูเยยเริ่มมีการสร้างงานอุตสาหกรรมมากมาย เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก เคมี วัสดุก่อสร้าง พลาสติก หนัง น้ำตาล เหล้า ยาสูบ การพิมพ์ เครื่องไฟฟ้า ทอผ้า การประมง ยาง เป็นต้น อุตสาหกรรมการผลิตเหล่านี้เกิดขึ้นจากฝีมือของชาวปูเยยภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาล ผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรม นอกจากจะจำหน่ายและใช้ภายในประเทศแล้ว ยังส่งออกขายยังต่างประเทศสร้างรายได้และการพัฒนาให้กับชาวปูเยยเป็นอย่างมาก ปัจจุบัน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่อาศัยชาวเผ่าปูเยย รัฐบาลสนับสนุนการก่อสร้างระบบจราจรมากมาย เช่น การสร้างสนามบินที่เมืองกุ้ยหยาง การสร้างโรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัยตลอดจนโรงพยาบาลเพื่อส่งเสริมการศึกษาและสุขภาพที่ดีของชาวปูเยย
นับร้อยปี พันปีที่ผ่านมา แม้ชีวิตของชาวปูเยยจะผ่านความทุกข์ยากลำบากมามากเพียงใด แต่การสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมอันงดงามของชนเผ่าก็มิได้ขาดหายหรือสูญสลายไปแต่อย่างใด วรรณกรรมมุขปาฐะไม่ว่าจะเป็น เพลงกลอน นิทาน เทพนิยาย สุภาษิตคำพังเพย ปริศนาคำทายยังคงสืบทอดมาถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะการร้องเพลงของชาวปูเยยมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น ที่น่าสนใจอย่างยิ่งได้แก่ เพลงโบราณ เพลงเล่าเรื่อง เพลงรักและการเกี้ยวพาราสี เพลงเหล้า(เพลงที่ร้องรำเพื่อเฉลิมฉลองในงานรื่นเริง) และเพลงงาน (เพลงร้องในเวลาทำงานจำพวกเพลงลงนา เพลงเกี่ยวข้าว) การร้องเพลงของชาวปูเยยมีหลายแบบ ได้แก่ การร้องตอบโต้ชายหญิง การร้องเพลงหมู่ การร้องแบบประสานเสียง การร้องแบบประสานเสียงมีสองแบบคือ การร้องประสานเสียงเพลงเอก ใช้ในงานพิธีที่สำคัญๆ เช่น การแต่งงาน งานศพ ท่วงทำนองฟังดูอึกทึก โอ่อ่า และศักดิ์สิทธิ์ ส่วนการร้องประสานเสียงแบบเพลงโท ใช้ร้องในงานเทศกาลรื่นเริงยามราตรี การร้องเกี้ยวพาราสีของหนุ่มสาว ท่วงทำนองนุ่มนวล แผ่วพลิ้ว แต่แฝงความสดใสชวนให้ลุ่มหลงอยู่ในที การขับร้องเพลงของชาวปูเยยไม่ได้ร้องเปล่า แต่มีดนตรีประกอบสร้างความไพเราะน่าฟังอย่างยิ่ง เครื่องดนตรีที่ใช้ได้แก่ ปี่ พิณวงเดือน ขลุ่ย โหม่งเล็ก กลองเหล็ก สำหรับกลองเหล็กนี้เป็นกลองที่ใช้ในพิธีสำคัญๆของชาวปูเยย จะตีกลองนี้ได้ในพิธีที่ยิ่งใหญ่และสำคัญเท่านั้น เช่น พิธีแต่งงาน งานศพ และคนธรรมดาไม่สามารถตีกลองนี้ได้ จะต้องเป็นผู้มีวิชา ในพิธีกรรมต่างๆ ผู้ตีกลองคือพ่อครู หรือหมอผีที่เป็นหัวหน้าหลักในการทำพิธี
การแต่งกายของชาวปูเยยดูเรียบง่ายแต่สูงส่งและสง่างาม ชายชาวปูเยยสวมเสื้อเชิ้ตไม่มีปก แขนสั้นหรือยาว สีฟ้าอ่อน โพกศีรษะเป็นรูปเหลี่ยม สตรีสวมเสื้อแขนยาวไม่มีปก คลุมทับด้วยเสื้อกั๊ก กางเกงขายาว หรือชุดเหมือนเสื้อกั๊กยาวคลุมกางเกงแล้วคาดเข็มขัดผ้า โพกศีรษะเป็นทรงเหลี่ยม ในงานพิธีสำคัญๆ ประดับประดาเสื้อผ้าด้วยเครื่องเงิน
บ้านเรือนของชาวปูเยยสร้างอยู่ตามพื้นที่ราบลุ่มริมน้ำ สร้างเป็นเรือนไม้สองชั้น ชั้นบนเป็นที่อยู่อาศัย ชั้นล่างเป็นที่เลี้ยงสัตว์หรือเก็บฟืนหรือฟาง
ชาวปูเยยยึดถือการมีสามีภรรยาเดียว สามารถแต่งงานในเครือญาติกันได้ เช่น พี่สาวพ่อแต่งงานกับพี่ชายแม่ได้ แต่ญาติใกล้ชิดไม่แต่งงานกัน การพบปะเลือกคู่ของหนุ่มสาวในงานเทศกาล หรือว่างพักจากการทำงานจะมารวมตัวกันร้องเพลง ฝ่ายหญิงจะเตรียมสร้อยที่ร้อยเองไว้ติดตัว เมื่อเจอชายหนุ่มที่ถูกใจ จะโยนสร้อยนั้นให้ หากฝ่ายชายตกลงก็จะพากันออกไปในป่าเขาสองต่อสองที่ไม่ห่างไกลจากกลุ่ม แล้วร้องเพลงโต้ตอบกัน แต่ด้วยวัฒนธรรมในสังคมศักดินา การครองรักจนถึงแต่งงานอยู่กินชั่วชีวิตของคู่รักชาวปูเยยเป็นไปได้ค่อนข้างลำบาก เพราะผู้คนให้ความสำคัญกับฐานะทางสังคมและฐานะทางเศรษฐกิจมาก การเลือกคู่แต่งงานต้องดูฐานะให้เหมาะสมกันพ่อแม่จึงจะยอมรับ บางครั้งการเลือกคู่แต่งงานก็ถูกจัดการโดยพ่อแม่มาตั้งแต่ลูกยังไม่เกิดเลยก็มี หญิงเมื่อแต่งงานแล้วไม่นิยมย้ายไปพำนักบ้านสามี บางท้องที่ถึงขั้นถือเป็นธรรมเนียมเลยก็มี
พิธีงานศพของชาวปูเยยในปัจจุบันใช้วิธีบรรจุในโลงศพ แล้วเชิญหมอผีมาทำพิธีเบิกทาง และมีการเชือดคอวัวเพื่อเซ่นดวงวิญญาณชาวปูเยยเรียกพิธีนี้ว่า “ต่ากา” (打嘎Dǎɡā)
ในช่วงก่อนการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ชาวปูเยยนับถือผี เทพยดา และผีบรรพบุรุษ นอกจากนี้มีบางส่วนนับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิค และนับถือพระเยซู
เทศกาลสำคัญถือเอาตามเทศกาลของชาวฮั่น เช่น ตรุษจีน เทศกาลบะจ่าง เทศกาลไหว้พระจันทร์ นอกจากนี้ยังมีเทศกาลประจำเผ่า เช่น วันที่แปดเดือนสี่ (四月八Sì yuè bā) หรือเรียกว่า เทศกาลเทพเจ้าวัว เทศกาลนี้ชาวปูเยยจะทำข้าวหลามหรือข้าวต้มมัดที่ทำด้วยข้าวเหนียวไหว้บรรพบุรุษและให้วัวกิน ยังมีอีกเทศกาลหนึ่งที่ถือเป็นเทศกาลยิ่งใหญ่และสำคัญมากของชาวปูเยย คือเทศกาลวันที่หกเดือนหก (六月六Liù yuè liù) เทศกาลนี้ชาวปูเยยเรียกว่า เกิ้งเจียง (更将Gènɡjiānɡ) เป็นเทศกาลไหว้เทพเจ้าที่ถือเป็นเทพผู้สร้างชาวปูเยย