จากการสำรวจจำนวนประชากรครั้งที่ 5 ของจีนในปี 2000 ชนกลุ่มน้อยเผ่าต๋าโว่ร์มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 132,394 คน ภาษาที่ใช้คือภาษาต๋าโว่ร์ จัดอยู่ในตระกูลภาษาอัลไต สาขามองโกล ไม่มีภาษาอักษรเป็นของตนเอง ใช้อักษรภาษาจีน มีบางกลุ่มใช้ภาษาหม่าน (满文Mǎn wén) ภาษามองโกล(蒙古文Měnɡɡǔ wén) และภาษา Kazakstan (哈萨克文Hāsàkè wén)
การกำหนดถิ่นที่อยู่อาศัยของชาวต๋าโว่ร์ข้างต้นเริ่มเป็นรูปเป็นร่างเมื่อกลางศตวรรษที่ 17 แต่ก่อนหน้านั้น ถิ่นฐานของชาวต๋าโว่ร์มีบริเวณกว้างมาก ทางใต้จรดแม่น้ำฉีหลี่ (奇里江Qílǐ jiānɡ ปัจจุบันคือพื้นที่ของประเทศรัสเซีย) ทิศตะวันออกจรดแม่น้ำหนิวหม่าน(牛满江Niúmǎn jiānɡ ปัจจุบันคือแม่น้ำโบลิเวียของรัสเซีย) ทิศตะวันตกจรดแม่น้ำเล่อคา(勒喀河Lèkā hé)ในมณฑลเฮยหลงเจียงของจีน ผลจากการล่าอาณานิคมและรุกรานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อย่างโหดเหี้ยมทารุณของรัสเซียในช่วงกลางศตวรรษที่ 17 ชนในแถบดังกล่าวซึ่งประกอบด้วย ชาวต๋าโว่ร์ ชาวเอ้อเวินเค่อ และชาวเอ้อหลุนชุน ถูกรุกรานจนต้องอพยพหลบหนีถอยร่นลงใต้มาอาศัยอยู่ในบริเวณแถบลุ่มน้ำเฮยหลงเจียง ชาวต๋าโว่ร์รุ่นแรกได้อพยพเข้ามาอยู่ที่แถบลุ่มแม่น้ำเนิ่น (嫩江 Nènjiānɡ) ต่อมาราชวงศ์ชิงแต่งตั้งให้ชาวต๋าโว่ร์ไปเป็นกองกำลังประจำการณ์อยู่ที่หัวเมืองทางตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันตกเฉียงเหนือ จึงได้อพยพชาวต๋าโว่ร์ส่วนหนึ่งไปอยู่ที่ฮูหลุนเป้ยเอ่อร์ (呼伦贝尔Hūlúnbèi’ěr, Hulun Buir) อ้ายฮุย(爱辉Ài’huī) และเมืองถ่าเฉิง (塔城 Tǎchénɡ) ของมณฑลซินเจียง
ต้นกำเนิดของชาวต๋าโว่ร์ยังไม่มีหลักฐานใดยืนยันและสรุปแน่ชัด แต่มีสองประเด็นที่นักประวัติศาสตร์มีความเห็นว่าน่าเชื่อถือ คือ หนึ่งเป็นชาวพื้นเมืองที่อยู่ติดแผ่นดินมาตั้งแต่อดีตกาล และสอง คือ การอพยพย้ายถิ่นฐานเพื่อการค้า ข้อคิดที่หนึ่งให้ความเห็นว่าชาวต๋าโว่ร์มีถิ่นฐานอยู่ติดแผ่นดินในบริเวณลุ่มแม่น้ำเฮยหลงเจียง(黑龙江Hēilónɡjiānɡ) ไปจนจรดลุ่มแม่น้ำฉีหลี่ (奇里江Qílǐ jiānɡ) โดยมีหลักฐานว่าถิ่นที่อยู่ของชาวต๋าโว่ร์เป็นหัวเมืองหนึ่งในสมัยราชวงศ์สุยและถัง และมีการส่งเครื่องบรรณาการให้กับทางการในฐานะหัวเมืองในปกครอง ถึงสมัยราชวงศ์เหลียว จิน หยวนได้รวบรวมหัวเมืองเหล่านี้มาไว้ในการปกครอง ในสมัยราชวงศ์หมิงมีการขุดคลองทัวมู่(托木河Tuōmù hé) คลองปู๋หลู่ตาน(卜鲁丹河Bǔlǔdān hé) ซึ่งเป็นบริเวณที่อยู่เก่าแก่ของชาวต๋าโว่ร์ ดังนั้นจึงตีความได้ว่าชาวต๋าโว่ร์มีอารยธรรมในดินแดนแถบเฮยหลงเจียงนี้มาก่อน ก่อนที่จะมีการอพยพของคาราวานค้าขายเสียอีก นอกจากนี้ยังมีอีกกระแสหนึ่งที่เชื่อว่าชาวต๋าโว่ร์เป็นชนที่อยู่ติดดินแดนเดิมมาแต่อดีตกาล ซึ่งเชื่อตามตำนานการเกิดของชนชาติต๋าโว่ร์ที่ชื่อ เฮยสุ่ยกว๋อ (黑水国Hēishuǐ ɡuó) “ประเทศเฮยสุ่ย” โดยเชื่อว่าผู้คนในชุมชนเฮยสุ่ยกว๋อนี้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับราชวงศ์สุยและถังมาช้านาน
หลังการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ด้วยความสมัครใจของชนเผ่าใช้ชื่อเรียกตัวเองอย่างเป็นทางการว่า ต๋าโว่ร์ (达斡尔Dáwò’ěr) ซึ่งหมายถึง “พระราชวังฉางกง” (长宫Chánɡɡōnɡ) หรือ “บริเวณตำหนักฉาง” เพื่อรำลึกถึงชาวชี่ตานที่ร่วมก่อตั้งประเทศเหลียว (辽国Liáo ɡuó) และประเทศฉาง(长国Chánɡ ɡuó) คำเรียกชื่อชนเผ่านี้เขียนได้สองแบบคือ达斡尔หรือ 达古尔(Dáwò’ěr,Dáɡǔ’ěr) อ่านว่า ต๋าโว่เอ่อร์ หรือ ต๋ากู๋เอ่อร์
สภาพเศรษฐกิจและสังคมของชาวต๋าโว่ร์เริ่มตั้งแต่ก่อนศตวรรษที่ 17 คือช่วงที่ชาวต๋าโว่ร์รวบรวมพลเมืองก่อตั้งบ้านเรือนและชุมชนในบริเวณตอนเหนือชายฝั่งแม่น้ำเฮยหลง เป็นกลุ่มชนที่มีความเจริญมากที่สุดในบรรดาชนเผ่าที่อาศัยอยู่ในบริเวณเดียวกันในขณะนั้น ชาวต๋าโว่ร์กระจายความเจริญลงไปทางใต้ โดยขยายพื้นที่และจับจองที่ดินตลอดชายฝั่งแม่น้ำเนิ่น (嫩江Nèn jiānɡ) นับเป็นกลุ่มชนที่บุกเบิกพื้นที่ในบริเวณชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนเป็นรุ่นแรก โดยเริ่มทำการเพาะปลูกพืชไร่เศรษฐกิจจำพวกธัญพืช เช่น ข้าวโอ้ต ข้าวบาร์เล่ ข้าวสาลี ข้าวโพด ถั่วต่างๆ และในครัวเรือนปลูกพืชผักกินเองจำพวกผักกาดขาว หัวผักกาด และแตงชนิดต่างๆ นอกจากนี้ยังเป็นกลุ่มชนที่ปลูกใบยาสูบ “หวงเยียน” (黄烟Huánɡyān) ที่เลื่องชื่ออีกด้วย
ในปี ค.ศ. 1914 มีการรังวัดที่ดินให้เป็นระบบ ประชาชนชาวต๋าโว่ร์เริ่มอพยพโยกย้ายไปอยู่ที่อื่น เพราะเกิดปัญหาที่ดินทำกิน เนื่องจากชาวฮั่นจำนวนมากย้ายเข้ามารุกรานที่ดินทำกินเดิมของชาวต๋าโว่ร์ แต่ในทางกลับกัน การเข้ามาของชาวฮั่นทำให้ความต้องการของสินค้าเพิ่มมากขึ้น กลับนำความเจริญก้าวหน้ามาสู่ชาวต๋าโว่ร์อย่างรวดเร็ว อาชีพล่าสัตว์น้ำถือเป็นอาชีพที่เป็นมรดกตกทอดสืบต่อกันมาก็ช่วยสร้างรายได้ให้ชาวต๋าโว่ร์ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้การผลิตขนสัตว์เช่น ขนมิ้ง หมาป่า แมวป่า หนูตะเภา และยาจีนที่ได้จากเขากวางและชะมด ที่ส่งขายทั่วประเทศล้วนมาจากชุมชนชาวต๋าโว่ร์ทั้งสิ้น โดยเฉพาะ “จื่อเตียว” (紫貂zǐdiāo)[1] ซึ่งเป็นสัตว์ล้ำค่าและหายาก ที่ส่งออกขายทั้งในและต่างประเทศก็มาจากชาวต๋าโว่ร์เช่นกัน
ในสมัยราชวงศ์ชิง พัฒนาการด้านการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ของชาวต๋าโว่ร์เจริญรุ่งเรืองมาก ไม่ว่าจะเป็นการผลิตเครื่องมือดักจับสัตว์น้ำ เริ่มรู้จักการสานตาข่ายดักจับสัตว์น้ำ การจับสัตว์ป่ามาเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงไว้เป็นอาหาร โดยเฉพาะชาวต๋าโว่ร์ที่อาศัยอยู่ที่เมืองฮูหลุนเป้ยเอ่อร์ (呼伦贝尔Hūlúnbèi’ěr) ทำการเลี้ยงสัตว์เป็นอาชีพหลัก นอกจากนี้ชาวต๋าโว่ร์ยังมีความสามารถทำเกวียนเพื่อใช้ในการจราจรและส่งสินค้าไปขายในที่ต่างๆ ได้อีกด้วย แต่จากการพัฒนาอย่างรวดเร็วนี้เอง ฐานะทางเศรษฐกิจของชาวต๋าโว่ร์มีความเหลื่อมล้ำกันสูงมาก สภาพสังคมแบบเจ้ากรรมสิทธิ์ที่ดินเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ชาวนาส่วนใหญ่ที่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเองประสบความยากลำบากมาก ต้องขายแรงงานเพื่อการดำรงชีวิตอยู่ ประกอบกับการเริ่มเข้าสู่ยุคสงคราม ชีวิตของชาวต๋าโว่ร์ยิ่งทวีความแร้นแค้นอย่างรุนแรงและแสนสาหัส จนกระทั่งปี ค.ศ. 1945 จีนชนะสงครามญี่ปุ่น ชาวต๋าโว่ร์และชนกลุ่มอื่นๆ ก็ได้รับการปลดปล่อยจากความยากลำบากในที่สุด
อารยธรรมทางสติปัญญาของชาวต๋าโว่ร์เริ่มต้นมาตั้งแต่ยุคชี่ตาน (契丹时代Qìdān shí dài) ที่สำคัญได้แก่ การผลิตสิ่งของเครื่องใช้ ดาราศาสตร์ การนับปฏิทินและการแพทย์ จากบันทึกพงศาวดารในสมัยราชวงศ์เหลียวมีบันทึกถึงชาวชี่ตานซึ่งเป็นบรรพบพรุษของชาวต๋าโว่ร์ไว้ว่า “ในหนังสือการนับแบบโบราณของชาวอาหรับคือการนับแบบชาวชี่ตาน วิธีการนับแบบนี้เผยแพร่ไปสู่ยุโรปอย่างรวดเร็วในศตวรรษที่ 11” ในบันทึกการเดินทางของชาวอิตาลีก็มีกล่าวถึงชาวชี่ตานว่า “ชาวชี่ตานรู้จักแยกแยะพืชสมุนไพรว่าดอก เกสร ผลหรือรากส่วนใดมีพิษหรือเป็นยาสามารถใช้รักษาโรคให้คนและสัตว์ได้” นอกจากนี้พวกเขายังเข้าใจลักษณะนิสัยของสัตว์แต่ละประเภท รู้จักการใช้แปรงสีฟัน ซึ่งเกิดขึ้นก่อนชาวยุโรปกว่าหกร้อยปี รู้จักการรักษาโรคด้วยการแช่น้ำพุร้อน การป้องกันโรค การใช้สารจากสัตว์และพืชในการรักษาโรค การใช้สารที่ทำให้เหน็บชาชื่อ “กุ่ยไต้ตาน” (鬼代丹ɡuǐdàidān) ตำราทางการแพทย์ของชาวต๋าโว่ร์ถือเป็นสมบัติการแพทย์แผนจีนที่สำคัญที่สุดส่วนหนึ่ง ศิลปวัฒนธรรมของชาวต๋าโว่ร์มีความงดงามโดดเด่น ด้วยเหตุที่ภาษาอักษรขาดการสืบทอดและสูญหายไป แต่ด้วยความชาญฉลาดของชาวต๋าโว่ร์ วรรณกรรมของชาวต๋าโว่ร์ยังคงรักษาและสืบทอดถึงปัจจุบัน ชาวต๋าโว่ร์ในยุคก่อนพยายามศึกษาภาษาหม่านเพื่อใช้อักขระอักษรของภาษาหม่านจดภาษาของตน ถือเป็นภูมิปัญญาที่หลักแหลมยิ่ง เช่น งานกวีนิพนธ์อันโดดเด่นของกวีชาวต๋าโว่ร์ที่แต่งในสมัยราชวงศ์ชิงเช่น 《蝴蝶花的荷包》Húdiéhuā de hébāo “ดอกบัวของหมู่ภมร” กวีนิพนธ์ชื่อ《四季歌》Sìjì ɡē “บทเพลงสี่ฤดู” กวีนิพนธ์ชื่อ《戒酒歌》Jiè jiǔ ɡē “เพลงอดสุรา” เป็นต้น กลอนเล่าเรื่องชื่อ “เหนี่ยวชุน” (鸟春Niǎo chūn) เพลงพื้นบ้านชื่อ “จาซือต๋าเล่อ” (扎师达勒Zhā shī dá lè) เพลงระบำ “ฮาคู่ม่าย”(哈库麦Hā kù mài) ล้วนสะท้อนถึงวิถีชีวิตที่รักความสนุกสนานรื่นเริงของชาวต๋าโว่ร์ออกมาได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ ศิลปะงานฝีมือที่สืบทอดต่อกันมาหลายช่วงอายุคนก็มีความงดงามเป็นเอกลักษณ์พิเศษเฉพาะตัว เช่น การวาดภาพ การตัดกระดาษ การปักผ้า การทำของเล่น เป็นต้น ล้วนเป็นงานฝีมือของสตรีชาวต๋าโว่ร์ที่งดงามเหนือใคร และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือการกีฬาที่เป็นกีฬาประจำเผ่าคือกีฬาคล้ายกับฮอคกี้ ในช่วงเวลาไม่กี่ปีมานี้กีฬาประเภทนี้แพร่หลายมากในจีน นักกีฬาฮอคกี้ทีมชาติที่มาจากชาวต๋าโว่ร์สร้างความเข้มแข็งและสร้างชื่อเสียงให้กับทีมเป็นอย่างมาก ถึงขนาดที่ว่าชนเผ่าต๋าโว่ร์ได้รับการขนานนามว่า “เมืองแห่งกีฬาฮอคกี้” เลยทีเดียว
ชาวต๋าโว่ร์ยึดถือขนบธรรมเนียมประเพณีอย่างเคร่งครัด การมีครอบครัวยึดถือการมีสามีภรรยาคนเดียว ไม่แต่งงานกับคนในสายตระกูลเดียวกัน พิธีการแต่งงานมีความละเอียดลึกซึ้ง เริ่มตั้งแต่การหมั้น การมอบของขวัญและการต้อนรับสะใภ้ใหม่
ส่วนพิธีงานศพจะใช้วิธีการฝังศพไว้ในสุสานประจำตระกูล ศพของผู้อาวุโสจะจัดพิธีอย่างใหญ่โตสมเกียรติ ญาติสนิทมิตรสหายมาร่วมงานศพเพื่อแสดงความอาลัยพร้อมหน้า
บ้านเรือนของชาวต๋าโว่ร์มีรูปแบบโดดเด่น ส่วนใหญ่สร้างติดแม่น้ำและภูเขา บริเวณบ้านเป็นระเบียบเรียบร้อย สร้างเป็นบ้านทรงสูงรูป “介” หันหน้าไปทางทิศใต้ รั้วบ้านใช้ก้านหลิวแดงถักสานเป็นลวดลายงดงาม
อาหารหลักของชาวต๋าโว่ร์คือข้าวสาลี ข้าวบาร์เล่กับนมวัว เนื้อสัตว์จะทำตากแห้ง ต้ม หรือย่าง
ในด้านศาสนาและความเชื่อ ชาวต๋าโว่ร์นับถือศาสนาซ่าหม่าน(萨满教Sàmǎn jiào) เคารพในธรรมชาติ โทเท็ม(图腾túténɡ, Totem) และเคารพบรรพบุรุษ เทพที่ชาวต๋าโว่ร์ให้ความเคารพบูชาเช่น เทพสวรรค์ เทพแห่งขุนเขา เทพพระเพลิง เทพนที เทพคอกสัตว์ เป็นต้น นอกจากนี้มีชาวต๋าโว่ร์บางพื้นที่นับถือศาสนาลามะ
เขียนโดย รองศาสตราจารย์ ดร.เมชฌ สอดส่องกฤษ
阿昌族เผ่าอาชาง
布依族 เผ่าปู้อี (ปูเยย)
德昂族 เผ่าเต๋ออ๋าง
鄂伦春族 เผ่าเอ้อหลุนชุน
仡佬族 เผ่าเกอลาว
回族 เผ่าหุย
柯尔克孜族 เผ่าเคอร์กิส
珞巴族 เผ่าลั่วปา
蒙古族 เผ่ามองโกล
怒族 เผ่านู่
畲族 เผ่าเซอ
土族 เผ่าถู่
乌兹别克族 เผ่าอุสเบค
水族 เผ่าสุ่ย
锡伯族 เผ่าซีโป๋
瑶族 เผ่าเหยา
白族 เผ่าป๋าย
朝鲜族 เผ่าเฉาเสี่ยน
侗族 เผ่าต้ง
俄罗斯族 เผ่ารัสเซีย
哈尼族 เผ่าฮานี
基诺族 เผ่าจีนั่ว
拉祜族 เผ่าลาหู่ (ชาวมูเซอ)
满族 เผ่าหม่าน
苗族 เผ่าเหมียว
普米族 เผ่าผูหมี่
土家族 เผ่าถู่เจีย
彝族 เผ่าอี๋
保安族 เผ่าป่าวอาน
达斡尔族 เผ่าต๋าโว่ร์
东乡族 เผ่าตงเซียง
鄂温克族 เผ่าเอ้อเวินเค่อ
哈萨克族 เผ่าคาซัค
京族 เผ่าจิง
黎族 เผ่าหลี
毛南族 เผ่าเหมาหนาน
仫佬族 เผ่ามู่หล่าว
羌族 เผ่าเชียง
塔吉克族 เผ่าทาจิค
佤族 เผ่าว้า
布朗族 เผ่าปลัง
傣族 เผ่าไต
独龙族 เผ่าตรุง
高山族เผ่าเกาซาน
赫哲族 เผ่าเฮ่อเจ๋อ
景颇族 เผ่าจิ่งโพ
傈僳族 เผ่าลี่ซู
门巴族 เผ่าเหมินปา
纳西族 เผ่าน่าซี
撤拉族 เผ่าซาลาร์
塔塔尔族 เผ่าทาทาร์
维吾尔族 เผ่าอุยกูร์
裕固族 เผ่ายวี่กูร์
藏族 เผ่าทิเบต
壮族 เผ่าจ้วง