中国少数民族 ชนกลุ่มน้อยจีน :傣族 เผ่าไต

          ชาวไตอาศัยอยู่ในมณฑลยูนนาน(云南Yúnnán) ในบริเวณเขตปกครองตนเองเผ่าไต สิบสองปันนา (西双版纳Xīshuānɡbǎnnà) เขตปกครองตนเองเผ่าไตเผ่าจิ่งโพ(景颇族自治区 Jǐnɡpō Zú zìzhìqū) เมืองเต๋อหง(德宏Déhónɡ) อำเภอปกครองตนเองเผ่าไต เผ่าว้า (傣族佤族自治县Dǎi Zú Wǎ Zú zìzhìxiàn) เมืองเกิ๋งหม่า(耿马 Gěnɡmǎ) อำเภอปกครองตนเองเผ่าไตเผ่าลาหู่ (傣族拉祜族自治县Dǎi Zú Lāhù Zú zìzhìxiàn) เมืองเมิ่งเหลียน(孟连Mènɡlián) และมีกระจัดกระจายอยู่ตามเมืองอื่นๆ อีกกว่า 30 เมือง ในมณฑลยูนนาน เช่น ซินผิง(新平Xīnpínɡ) หยวนเจียง(元江Yuánjiānɡ) จินผิง (金平Jīnpínɡ) เป็นต้น ชาวไตตั้งบ้านเรือนอยู่ตามบริเวณเขตร้อนที่ราบหุบเขา จากการสำรวจจำนวนประชากรครั้งที่ 5 ของจีนในปี 2000 ชนกลุ่มน้อยเผ่าไตมีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 1,158,989 คน

 


ภาษาที่ใช้คือภาษาไต (傣语Dǎi yǔ) จัดอยู่ในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต (汉藏语系 Hàn Zànɡ yǔxì) สาขาภาษาจ้วง-ต้ง (壮侗语族Zhuànɡ Dònɡ yǔzú) แขนงภาษาจ้วง-ไต (壮傣语支Zhuànɡ Dǎi yǔzhī) ชนเผ่าไตมีอักขระอักษร แต่ภาษาไตที่ชนเผ่าไตใช้มีความแตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น อักขระภาษาไตมีการปรับปรุงใหม่ในปี 50 ของศตวรรษที่ 20
คนไทหรือคนไตมีชื่อเรียกตัวเองหลายชื่อ เช่น ไต่เล่อ (傣仂Dǎilè) ไต๋หย่า (傣雅Dǎiyǎ) ไต่น่า (傣那 Dǎinà) ไต่เปิง(傣绷Dǎibēnɡ) ในสมัยฮั่นและจิ้นเรียกชนกลุ่มนี้ว่าเตียนเยว่ (滇越Diānyuè) ต่าน (掸Dǎn) ซ่าน (擅Shàn) เหลียว (僚Liáo) และจิวเหลียว (鸠僚Jiūliáo) ในสมัยถังและซ่งเรียกชนกลุ่มนี้ว่าจินฉื่อ (金齿Jīnchǐ[1]) เฮยฉื่อ (黑齿Hēi chǐ) หมางหมาน(茫蛮Mánɡmán) ป๋ายอี(白衣Bái yī) ชื่อป๋ายอีนี้บางตำราเขียนด้วยตัวอักษรต่างๆกัน ออกเสียงต่างกันเล็กน้อย เช่น ป่ายอี๋(百夷Bǎiyí) ป๋ายอี๋(白夷Báiyí)โป๋อี๋ (伯夷Bóyí)จนถึงสมัยราชวงศ์ชิงเรียกชนกลุ่มนี้ว่า ป่ายอี๋(摆夷Bǎiyí) ภายหลังการปฏิวัติวัฒนธรรม รัฐบาลจีนเรียกชื่อชนเผ่าไตตามความสมัครใจของชนเผ่าว่า ไต่จู๋ (傣族DǎiZú) ซึ่ง หมายถึงชนเผ่าไตนั่นเอง

 

ชนเผ่าไตในดินแดนจีนนี้มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนานมาก พงศาวดารจีนที่มีบันทึกถึงชนเผ่าไตเริ่มตั้งแต่ศตวรรษที่ 1 ในปี ค.ศ. 109 จักรพรรดิฮั่นอู่ตี้บุกเบิกพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ และสร้างเมืองอี้โจว(益州Yìzhōu)ขึ้นในบริเวณที่ชาวไตตั้งถิ่นฐานอยู่ คือ บริเวณชายแดนทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองอี้โจว จนถึงศตวรรษที่ 6 ได้สร้างเมืองหย่งชาง(永昌Yǒnɡchānɡ) พื้นที่อาศัยของชนเผ่าไตจัดอยู่ในเขตการปกครองของเมืองหย่งชางนี้เอง ในเวลานั้นบรรพบุรุษชาวไตได้ส่งคณะทูตและคณะนักดนตรีนักแสดงเพื่อแสดงถวายแด่จักรพรรดิของราชวงศ์ตงฮั่นที่เมืองหลวงลั่วหยาง และได้รับการยอมรับและการโปรดปรานของจักรพรรดิราชวงศ์ตงฮั่นเป็นอย่างมาก จนได้รับพระราชทานรางวัลมากมาย ที่สำคัญหัวหน้าที่นำคณะชาวไตมานั้นได้รับเชิญให้อยู่รับราชการเป็นนายพลของราชวงศ์ฮั่นอีกด้วย ชนเผ่าไตและราชสำนักฮั่นจึงมีสัมพันธ์อันดีต่อกันนับแต่นั้นเรื่อยมา

 


กระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ 8 ถึง คริสต์ศตวรรษที่ 13 ชนเผ่าไตรวมทั้งชนชาติใกล้เคียงได้แก่ เผ่าอี๋ (彝族Yí Zú) เผ่าป๋าย (白族Bái Zú) ก่อตั้งเป็นเขตการปกครองขึ้นที่ยูนนานน่านเจ้า (云南南诏Yúnnán Nánzhào) ในสมัยหยวนพื้นที่ชนเผ่าไตอยู่ในเขตการปกครองของมณฑลยูนนาน ในสมัยนั้นมีกฎการถือครองที่ดิน และมีการจัดตั้งชุมชนใหม่ขึ้นหลายแห่ง ที่สำคัญได้แก่ เมืองเต๋อหง(德宏Déhónɡ) สิบสองปันนา (西双版纳Xīshuānɡ bǎn nà) ซึ่งเป็นพื้นที่อาศัยส่วนใหญ่ของชนชาวไต ถึงสมัยหมิงมีการจัดการให้ชาวไตถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินทำกิน อันเป็นจุดสำคัญในการรวมชนเผ่าไตเข้ามาอยู่ในการปกครองของจีน ในสมัยราชวงศ์ชิงการปกครองชนเผ่าไตไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก คงยึดถือตามแบบการปกครองของราชวงศ์หมิง แต่มีการยึดที่ดินที่มีการพัฒนาแล้วของชาวไตกลับคืนเป็นของรัฐ โดยการส่งขุนนางเข้าไปในพื้นที่จัดการรวบรวมที่ดิน ในสมัยกว๋อหมินตั่งก่อตั้งเขตการปกครองในบริเวณชายแดนของชนเผ่าไต ขูดรีดประชาชน สร้างความทุกข์ยากให้กับชาวไตเป็นอย่างมาก

 

ก่อนการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ชาวไตในแต่ละท้องที่มีสภาพเศรษฐกิจและสังคมแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน ระดับชั้นทางสังคม การปกครองแบบรีดนาทาเร้นประชาชน แสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการของระบบสังคมชาวไตว่าเริ่มต้นจากระบบศักดินาที่มีหัวหน้าเผ่าปกครองถือกรรมสิทธิ์สูงสุด เปลี่ยนมาเป็นประชาชนมีสิทธิ์ถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ในบริเวณจิ่งตง (景东Jǐnɡdōnɡ) ซินผิง (新平Xīnpínɡ) หยวนเจียง(元江Yuánjiānɡ) ประชาชนชาวไตและชาวฮั่นอาศัยอยู่คละเคล้ารวมกัน ชาวไตรับอิทธิพลจากชาวฮั่นมากมายทั้งด้านการอาชีพ การเกษตร วัฒนธรรม เป็นต้น โดยเฉพาะวิทยาการด้านอุตสาหกรรมการผลิต ระบบเศรษฐกิจและสังคมของชาวไตและชาวฮั่นในบริเวณนี้ เริ่มเข้าสู่ระบบสังคมแบบการถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ระบบศักดินาและความไม่เสมอภาคในสังคมเกิดขึ้นอย่างรุนแรง ชาวไตถูกกดขี่จากเจ้าของที่ดินทั้งในและนอกพื้นที่ ประกอบกับการปกครองของยุคกว๋อหมินตั่ง ส่งผลให้ชาวไตในบริเวณดังกล่าวทุกข์ยากและลำบากมาก แต่การพัฒนาเศรษฐกิจของชาวไตที่เมืองเต๋อหงและสิบสองปันนากลับช้ากว่าที่อื่น โดยเฉพาะในเขตสิบสองปันนา ยังคงดำรงระบบการถือครองที่ดินแบบมีหัวหน้าชุมชนอยู่อย่างค่อนข้างสมบูรณ์

หลังการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนชาวไตก่อตั้งเขตปกครองตนเองตามเมืองต่างๆดังนี้

1. ปี 1953 ก่อตั้งบริเวณปกครองตนเองชนเผ่าไตที่สิบสองปันนา และในปี 1955 ยกระดับ
เป็นเขตปกครองตนเองชนเผ่าไตที่สิบสองปันนา(西双版纳傣族自治州 Xīshuānɡbǎnnà Dǎi Zú zìzhìzhōu)

2. ปี 1953 ชุมชนชาวไตที่เมืองเต๋อหงก่อตั้งเป็นบริเวณปกครองตนเอง และยกฐานะเป็น
เขตปกครองตนเองเมืองเต๋อหง (德宏傣族景颇族自治州Déhónɡ Dǎi Zú Jǐnɡpō Zú zìzhìzhōu) ในปี1956

3. นับตั้งแต่ปี 1954 ถึง 1980 ทยอยก่อตั้งเขตปกครองตนเองเผ่าไต เผ่าลาหู่ เผ่าว้าที่อำเภอ เมิ่งเหลียน(孟连傣族拉祜族佤族自治县Mènɡlián Dǎi Zú Lāhù Zú Wǎ Zú zìzhìxiàn) อำเภอปกครองตนเองเผ่าไต เผ่าว้าที่อำเภอเกิ๋งหม่า ( 耿马傣族佤族自治县 Gěnɡmǎ Dǎi Zú Wǎ Zú zìzhìxiàn) อำเภอปกครองตนเองเผ่าอี๋เผ่าไตอำเภอซินผิง (新平彝族傣族自治县Xīnpínɡ Yí Zú Dǎi Zú zìzhìxiàn) และอำเภอปกครองตนเองเผ่าฮานีเผ่าไตอำเภอหยวนเจียง (元江哈尼族彝族傣族自治县Yuánjiānɡ Hāní Zú Yí Zú Dǎi Zú zìzhìxiàn)

 

นับแต่นั้นมา ก็ได้มีการดำเนินการเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงระบบการถือครองกรรมสิทธิ์
ที่ดินแบบศักดินามาเป็นแบบสังคมนิยม ทำให้ระบบสังคมเศรษฐกิจและวัฒนธรรมเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่และมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ระยะเวลา 40 ปี นับตั้งแต่การก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นต้นมา เกิดการพัฒนาในเรื่องการชลประทาน อันเป็นพื้นฐานหลักในการพัฒนาการเกษตรของชุมชน รัฐบาลสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตเกี่ยวกับเครื่องจักรกล และอาหาร โดยเฉพาะ “ชาผูเอ่อร์” (普洱茶Pǔěr chá) เป็นชาที่ปลูกโดยชาวไตที่มีชื่อเสียงระบือไกลไปทั่วโลก มีการทดลองปลูกต้นยางพาราในเขตสิบสองปันนาได้สำเร็จสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจและรายได้ให้กับชาวไตอย่างมหาศาล มีการทำเหมืองแร่ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกล ไฟฟ้า เคมี เครื่องปั้นดินเผา หนัง กระดาษ เกลือ ชา อาหารสำเร็จรูป น้ำตาล ยาง โรงงานอุตสาหกรรมที่นู่เจียง สิบสองปันนาและเต๋อหงก็ถือเป็นโรงงานอุตสาหกรรมระดับแนวหน้าของมณฑลยูนนาน จำนวนการผลิตก็เติบโตขึ้นมาโดยตลอด และเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของภาคอุตสาหกรรม รัฐบาลได้สนับสนุนให้มีการสร้างสถานีกำเนิดไฟฟ้าขึ้นที่สิบสองปันนาอีกด้วย เมื่อความเจริญเข้ามา การเติบโตทางภาคอุตสาหกรรมรุดหน้า สิ่งจำเป็นอีกอย่างหนึ่งคือการจราจร รัฐบาลทุ่มงบประมาณมหาศาลเพื่อระบบคมนาคมที่สมบูรณ์สู่ดินแดนชาวไต ไม่ว่าจะเป็นถนนหลวง สนามบิน การศึกษาก็ได้รับการพัฒนาตามไปด้วย มีการก่อสร้างโรงเรียนตั้งแต่ระดับประถมถึงขั้นอุดมศึกษา โดยใช้ภาษาไตเป็นหลัก มีสถานีวิทยุภาษาไต หนังสือเอกสารตำราทั้งหลายได้รับการแปลเป็นภาษาไตใช้อย่างกว้างขวาง

 

ก่อนการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในถิ่นที่อยู่อาศัยของชาวไตที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลมีโรคระบาดมากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคมาลาเรียและอหิวาตกโรค ในขณะนั้นชาวไตขาดวิทยาการทางการแพทย์และยารักษาโรคที่ทันสมัย ทำให้ชาวไตประสบปัญหาด้านสุขภาพมาก แต่ปัจจุบันรัฐบาลสนับสนุนให้ชาวไตพัฒนาวิทยาการทางการแพทย์ และการใช้ยาที่ทันสมัย มีการก่อสร้างสถานีอนามัยตามหมู่บ้าน จนสามารถปราบปรามและป้องกันโรคดังกล่าวได้ คุณภาพชีวิตของชาวไตเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น ปัจจุบันชาวไตจึงเป็นชนกลุ่มน้อยที่นับว่ามีความเป็นอยู่ที่ดี มีฐานะร่ำรวยมากๆชนเผ่าหนึ่ง
          ในด้านศิลปวัฒนธรรม ที่โดดเด่นได้แก่ การนับปฏิทินแบบชาวไต ซึ่งเริ่มมีมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 638 มีตำราปฏิทินจันทรคติ มีบันทึกพงศาวดารภาษาไตที่จารึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของชนเผ่า เพลง กลอน นิทาน ตำนานมากมาย ชาวไตมีวรรณกรรมขนาดยาวที่จดบันทึกไว้มากกว่าห้าร้อยเรื่อง ถือเป็นชนเผ่าที่มีอารยธรรมและวิวัฒนาการทางภาษาที่โดดเด่นมากที่สุดในบรรดาชนกลุ่มน้อยทั้งหมดของจีน วรรณกรรมที่โดดเด่นเป็นเรื่องราวของการกำเนิดพิภพ เช่น เรื่อง《布桑盖与瓦桑盖》Bùsānɡɡài yǔ Wǎsānɡɡài “ปู้ซังก้ายกับหว่าซังก้าย” เรื่อง《坤撒》 Kūnsā “คุณซา” ยังมีเรื่องราวที่เกี่ยวกับบันทึกการทำมาหากิน เช่น เรื่อง《叭阿拉吾射金鹿》Bā’ālāwú shè jīnlù “ปาอาลาอู๋ยิงกวางทอง” นวนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่อง《召网香召网朔》Zhàowǎnɡxiānɡ Zhàowǎnɡshuò “จ้าววังเซียงจ้าววังซั่ว” เรื่อง《勐卯与景欠战争史》Měnɡmǎo yǔ Jǐnɡqiàn zhàn zhēnɡshǐ “ประวัติศาสตร์สงครามของเหมิงหม่าวกับจิ่งเชี่ยน” นวนิยายความรักเช่น 《朗鲸布》Lǎnɡjīnɡbù “หล่างจิงปู้” และเรื่อง《线秀》Xiànxiù “เซี่ยนซิ่ว” เรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตชาวไตในสมัยการเปลี่ยนแปลงการปกครองเช่น เรื่อง 《彩虹》Cǎihónɡ “สายรุ้ง”《流沙河之歌》Liúshāhé zhī ɡē “บทเพลงแห่งสายน้ำทราย”

ศิลปะการร่ายรำของชาวไตที่มีชื่อเสียงเลื่องลืออย่าง “ระบำนกยูง”(孔雀舞Kǒnɡquèwǔ) ที่เลียนแบบท่าทางการเคลื่อนไหว รำแพนของนกยูงก็สะท้อนวัฒนธรรมของชาวไตได้อย่างชัดเจนและงดงามเช่นกัน เนื่องจากในบริเวณสิบสองปันนา มีนกยูงเป็นจำนวนมาก ทั้งที่เป็นนกยูงป่า และนกยูงเลี้ยง ชาวไตนับถือนกยูงว่าเป็นนางพญาแห่งนก และนับถือว่าเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ประจำชนเผ่า จนกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของชาวไตสิบสองปันนาอย่างหนึ่ง จนได้รับขนานนามว่า “ดินแดนแห่งนกยูง”

 

หูหลูเซียว(葫芦箫húluxiāo) หรือ หูหลูซือ (葫芦丝húlusī) คือ ขลุ่ยน้ำเต้า เป็นเครื่องดนตรีประเภทเป่าชนิดหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นของชาวไต ด้วยเสียงที่หวานใส และกังวาน ราวกับจะบอกให้รู้ว่าเป็นเสียงจากกลุ่มชนที่มีจิตใจซื่อตรง งดงามและบริสุทธิ์ของผู้คนเผ่าไต หากมีโอกาสเดินทางไปที่มณฑลยูนนานอันเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวไต ก็จะได้ยินเสียงขลุ่ยน้ำเต้าอบอวนไปทั่วทุกมุมเมือง นอกจากจะเป็นเครื่องดนตรีประจำเผ่ากลุ่มน้อยชาวไตในสิบสองปันนาแล้ว ด้วยความไพเราะของขลุ่ยน้ำเต้า และความใกล้ชิดกันของกลุ่มชนเผ่าต่างๆ ทำให้มีการถ่ายเททางวัฒนธรรมกันมาตลอด ขลุ่ยน้ำเต้า จึงได้รับความนิยมชมชอบของชนเผ่ากลุ่มน้อยแถบภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีนอีกหลายกลุ่ม เช่น ชาวเผ่าอาชาง ชาวเผ่าว้า และชาวเผ่าจิ่งโพด้วย

มีเรื่องเล่าของชาวไต เกี่ยวกับตำนานของขลุ่ยน้ำเต้าว่า
“นานมาแล้ว เกิดเหตุน้ำป่าทะลักไหลบ่า เด็กหนุ่มชาวไตคนหนึ่งเกาะน้ำเต้าลอยคอฝ่าคลื่นยักษ์ไปช่วยคนรักของตน ความรักอันบริสุทธิ์ยังความประทับใจกับเทพคีตา จึงบันดาลให้พายุน้ำป่าสงบลง หมู่ผกาเบ่งบาน นกยูงรำแพน อวยพรอันประเสริฐแด่คู่รักทั้งสอง นับแต่นั้นมา น้ำเต้าจึงสืบทอดในเชื้อสายชาวไตเรื่อยมา”

นอกจากนี้งานฝีมือด้านการแกะสลัก การวาดภาพที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวก็สะท้อนวิถีชีวิตชาวไตได้อย่างงดงาม ด้านสถาปัตยกรรมแพไม้ไผ่ที่ล่องลอยไปตามสายน้ำ ก็เป็นสถาปัตยกรรมที่ลอยไปอวดโฉมให้ชนเผ่าอื่นชื่นชมความงดงามและภูมิปัญญาของชนเผ่าไตตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน

 

ขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวไตสะท้อนถึงสังคมแบบศักดินาอย่างชัดเจน การแต่งงานจะแต่งกับคนที่มีระดับชั้นทางสังคมเท่าเทียมกัน การถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นตัวกำหนดระดับชั้นสูงต่ำทางสังคม ชายชาวไตที่เป็นชนชั้นสูงสามารถมีภรรยาหลายคนได้ ส่วนชาวบ้านที่มีระดับชั้นทางสังคมต่ำจะมีสามีภรรยาคนเดียว โดยที่บิดามีสิทธิ์เด็ดขาดในการเลือกคู่ครองของลูก สมาชิกในครอบครัวประกอบด้วย พ่อแม่และลูกชายลูกสาวที่ยังไม่แต่งงาน หนุ่มสาวชาวไตมีอิสระในการเลือกคู่ครอง โดยที่หนุ่มสาวจะมีโอกาสพบปะกันในเทศกาลสำคัญๆ หรือตามงานประเพณีต่างๆ การพบปะกันเรียกว่า “ชวนผู้สาว” เมื่อตกลงแต่งงานกันแล้ว ชาวไตมีธรรมเนียมการแต่งลูกเขยเข้าบ้าน

 


ประเพณีงานศพของชาวไตใช้วิธีการฝังศพ สุสานฝังศพของผู้มีสถานภาพทางสังคมสูงจะแยกออกจากผู้มีสถานภาพทางสังคมต่ำอย่างเคร่งครัด ส่วนศพพระ นักบวชจะทำพิธีศพด้วยการเผา แล้วเก็บอัฐิบรรจุในเจดีย์กระเบื้องเก็บไว้ที่วัด

วัฒนธรรมการแต่งกายของชาวไตคือ ชายสวมเสื้อผ่าอกไม่มีปกแขนยาวหรือสั้น สวมกางเกงขากว้าง ฤดูหนาวคลุมทับด้วยผ้าสักหลาด พันศีรษะด้วยผ้าขาวหรือเขียว นอกจากนี้ชายชาวไตนิยมสักลวดลายตามร่างกาย เด็กชายเมื่ออายุสิบเอ็ดสิบสองปีจะเชิญผู้มีอาคมมาสักยันตร์ตามร่างกาย ลวดลายที่นิยมสักได้แก่ ลายจำพวกสัตว์ ดอกไม้ หรืออักขระภาษาไต เพศหญิงสวมเสื้อแขนกระบอก หรือเสื้อแขนสั้น นุ่งผ้าถุง ชาวไตที่สิบสองปันนาสวมเสื้อรัดรูปสีขาวหรือสีลายดอก นุ่งผ้าถุงสีฉูดฉาด หญิงชาวไตที่เมืองหมาง(芒市Mánɡshì) ก่อนแต่งงานจะสวมเสื้อผ่าอกรัดรูปแขนสั้นสีอ่อน กางเกงทรงยาวขากว้าง พับทบชายพกที่เอว เมื่อแต่งงานแล้วเปลี่ยนมาสวมเสื้อแขนกระบอกนุ่งผ้าถุงสีดำ ด้วยการแต่งกายที่มีสีสันฉูดฉาดเป็นเอกลักษณ์นี่เอง ชนกลุ่มอื่นมักเรียกชาวไตว่า ชาวไตเอวดอกไม้ ไตแขนกระบอก เป็นต้น

 


ด้านอาหารการกินของชาวไต ชาวไตที่เต๋อหงกินข้าวเจ้าเป็นอาหารหลัก ส่วนชาวไตที่สิบสองปันนาชอบกินข้าวเหนียว ชอบดื่มเหล้าและกินอาหารรสเผ็ด ชอบกินเนื้อปลากุ้ง และชอบเคี้ยวหมาก บ้านเรือนของชาวไตสร้างด้วยไม้ อยู่บนพื้นที่ราบลุ่มริมแม่น้ำ สร้างเป็นสองชั้น ส่วนชาวไตที่เมืองเต๋อหงสร้างบ้านด้วยอิฐ และดิน ชั้นเดียว และนิยมสร้างบ้านสี่หลังในรั้วเดียวกัน

 


การนับถือศาสนาและความเชื่อของชาวไตมีความสัมพันธ์สอดคล้องกับการพัฒนาการของระบบเศรษฐกิจและสังคม ในอดีตชาวไตบริเวณชายแดนนับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท ในขณะเดียวกันยังนับถือผีและวิญญาณอันเป็นการนับถือที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ตามชนบทชาวไตสร้างวัดพุทธน้อยใหญ่มากมาย โดยเฉพาะที่สิบสองปันนา เด็กชายอายุครบเกณฑ์ต้องบวชเณร ชายอายุครบพรรษาบวชต้องบวชพระ เพื่อเรียนรู้พระธรรม ดังนั้นเทศกาล งานประเพณีต่างๆของชาวไตล้วนมีความเกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธเป็นส่วนใหญ่ เทศกาลที่สำคัญได้แก่ เทศกาลกวานเหมินเจี๋ย (关门节Guānménjié) “เทศกาลปิดประตู” เทศกาลคายเหมินเจี๋ย(开门节Kāiménjié) “เทศกาลเปิดประตู” เทศกาลโพสุ่ยเจี๋ย (泼水节Pōshuǐjié) “เทศกาลสงกรานต์” เป็นต้น เทศกาลกวานเหมินเจี๋ย คือ เทศกาลเข้าพรรษา จัดขึ้นในกลางเดือนมิถุนายน ส่วนเทศกาลคายเหมินเจี๋ย คือ เทศกาลออกพรรษา จัดขึ้นในกลางเดือนกันยายน นับตั้งแต่เทศกาลเข้าพรรษาถึงเทศกาลออกพรรษาเป็นระยะเวลาสามเดือน ชาวไตจะเข้าพรรษา ถือศีล เข้าวัด ไหว้พระฟังธรรม จนออกพรรษาจึงจะกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ เทศกาลสงกรานต์เป็นเทศกาลขึ้นปีใหม่ของชาวไต ในเทศกาลนี้ชาวไตจะสรงน้ำพระ เล่นสาดน้ำสงกรานต์ แข่งเรืออย่างสนุกสนาน ถือเป็นเทศกาลที่มีความสำคัญมากของชาวไต
          ข้อสังเกต ชื่อเรียกชาวไตบางชื่อ แปลความหมายตามตัวหนังสือได้ดังนี้ จินฉื่อ (金齿Jīnchǐ แปลว่าฟันทอง) เฮยฉื่อ(黑齿Hēichǐแปลว่าฟันดำ) ป๋ายอี(白衣Báiyīแปลว่าเสื้อขาว)

เขียนโดย รองศาสตราจารย์ ดร.เมชฌ สอดส่องกฤษ

 

阿昌族เผ่าอาชาง
布依族  เผ่าปู้อี (ปูเยย)
德昂族  เผ่าเต๋ออ๋าง
鄂伦春族 เผ่าเอ้อหลุนชุน
仡佬族  เผ่าเกอลาว
回族  เผ่าหุย
柯尔克孜族  เผ่าเคอร์กิส
珞巴族  เผ่าลั่วปา
蒙古族  เผ่ามองโกล
怒族  เผ่านู่
畲族  เผ่าเซอ
土族  เผ่าถู่
乌兹别克族  เผ่าอุสเบค
水族  เผ่าสุ่ย
锡伯族  เผ่าซีโป๋
瑶族  เผ่าเหยา
白族  เผ่าป๋าย
朝鲜族  เผ่าเฉาเสี่ยน
侗族  เผ่าต้ง
俄罗斯族  เผ่ารัสเซีย
哈尼族  เผ่าฮานี
基诺族  เผ่าจีนั่ว
拉祜族  เผ่าลาหู่ (ชาวมูเซอ)
满族  เผ่าหม่าน
苗族  เผ่าเหมียว
普米族  เผ่าผูหมี่
土家族  เผ่าถู่เจีย
彝族  เผ่าอี๋
保安族  เผ่าป่าวอาน
达斡尔族  เผ่าต๋าโว่ร์
东乡族  เผ่าตงเซียง
鄂温克族  เผ่าเอ้อเวินเค่อ
哈萨克族  เผ่าคาซัค
京族 เผ่าจิง
黎族  เผ่าหลี
毛南族  เผ่าเหมาหนาน
仫佬族 เผ่ามู่หล่าว
羌族 เผ่าเชียง
塔吉克族  เผ่าทาจิค
佤族  เผ่าว้า
布朗族  เผ่าปลัง
傣族  เผ่าไต
独龙族  เผ่าตรุง
高山族เผ่าเกาซาน
赫哲族  เผ่าเฮ่อเจ๋อ
景颇族  เผ่าจิ่งโพ
傈僳族  เผ่าลี่ซู
门巴族  เผ่าเหมินปา
纳西族  เผ่าน่าซี
撤拉族  เผ่าซาลาร์
塔塔尔族  เผ่าทาทาร์
维吾尔族  เผ่าอุยกูร์
裕固族  เผ่ายวี่กูร์
藏族  เผ่าทิเบต
壮族  เผ่าจ้วง

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น

error: Content is protected !!