ชนกลุ่มน้อยเผ่าป่าวอานอาศัยอยู่ในบริเวณเขตปกครองตนเองเผ่าป่าวอานเผ่าตงเซียง(东乡族Dōnɡxiānɡ Zú) เผ่าซาลา(撒拉族Sālā Zú) ในหุบเขาจีสือ(积石山Jīshíshān) และมีบางส่วนที่อาศัยอยู่ในตำบลต่างๆ ในเขตปกครองตนเองเผ่าหุย (回族自治州Huí Zú zìzhìzhōu) และอำเภอสวินฮว่า(循化县Xúnhuà xiàn) ของมณฑลชิงห่าย(青海省Qīnɡhǎi shěnɡ) จากการสำรวจจำนวนประชากรครั้งที่ 5 ของจีนในปี 2000 ชนกลุ่มน้อยเผ่าป่าวอานมีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 16,505 คน ภาษาที่ใช้คือภาษาป่าวอาน(保安语Bǎo’ān yǔ) จัดอยู่ในตระกูลภาษาอัลไต (阿尔泰语系 Ā’ěrtài yǔxì) สาขาภาษามองโกล (蒙古语族Měnɡɡǔ yǔzú) แต่ปัจจุบันส่วนใหญ่ใช้ภาษาฮั่น
คำเรียกชื่อเผ่า “ป่าวอาน” เป็นคำเรียกที่ชนเผ่านี้เรียกตนเอง ในอดีตด้วยเหตุที่นับถือศาสนาอิสลามและมีขนบธรรมเนียมคล้ายคลึงกับชนเผ่าหุย (回族Huí Zú) จึงถูกบุคคลภายนอกเรียกว่า เผ่าป่าวอานหุย (保安回Bǎo’ān Huí) หลังจากที่ประเทศจีนก่อตั้งเป็นสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้น ชนเผ่านี้เลือกที่จะเรียกตนเองว่า เผ่าป่าวอาน(保安族 Bǎo’ān Zú)
จากบันทึกทางประวัติศาสตร์ระบุว่า ในสมัยหมิงราวปี ค.ศ.1371 บริเวณเขาซีซาน (西山Xīshān) อำเภอถงเหริน(同仁Tónɡrén) มณฑลชิงห่าย (青海Qīnɡhǎi)ในปัจจุบัน เคยสร้างปราการชื่อป่าวอาน คำเรียกชื่อป่าวอานที่เป็นชื่อสถานที่ ต่อมาจึงใช้เป็นชื่อเรียกกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าว นักวิชาการเชื่อว่าชาวป่าวอานเป็นชนเผ่าเชื้อสายมองโกลที่นับถือศาสนาอิสลาม และได้รับอิทธิพลจากชนเผ่าอื่นๆในบริเวณใกล้เคียงได้แก่ เผ่าหุย(回族Huí Zú) เผ่าทิเบต(藏族 Zànɡ Zú)และเผ่าถู่(土族Tǔ Zú) แล้วสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตนขึ้นมา แต่ก็มีนักวิชาการบางสำนักเชื่อว่าชาวป่าวอานคือชาว “หุยหุย” (回回Huíhuí) ที่แต่เดิมอาศัยอยู่บริเวณเสฉวนและส่านซี อพยพโยกย้ายเข้ามา โดยตั้งบ้านเรือนเลี้ยงสัตว์ตามทุ่งหญ้าชายฝั่งแม่น้ำหลงอู้ (隆务河 Lónɡwù hé) และมีปฏิสัมพันธ์แต่งงานข้ามเผ่าพันธุ์กับพวกเผ่าตงเซียง เผ่าซาลา เผ่าทิเบต แล้วค่อยๆเกิดเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว จนก่อตั้งขึ้นเป็นเผ่าป่าวอาน
ช่วงปลายราชวงศ์หมิงต้นราชวงศ์ชิง ระบบเศรษฐกิจและสังคมของชาวป่าวอานเจริญรุ่งเรืองมาก จำนวนประชากรก็เพิ่มมากขึ้นด้วย ในขณะนั้นประชากรชาวป่าวอานที่อยู่รวมกันเป็นหมู่บ้านมีมากกว่าร้อยครัวเรือน นอกจากนี้ยังมีกระจัดกระจายอยู่ที่ต่างๆอีกหลายร้อยครัวเรือน สมัยจักรพรรดิยงเจิ้ง ปีที่ 7 ซึ่งตรงกับปี ค.ศ. 1729 ได้อพยพชาวป่าวอานไปไว้ภายใต้การปกครองของซีหนิง จนถึงสมัยเฉียนหลงปีที่ 27 ซึ่งตรงกับ ค.ศ. 1762 ได้จัดการปกครองของชาวเผ่าป่าวอานใหม่อีกครั้ง โดยให้ขึ้นตรงต่อจังหวัดหลานโจว ต่อมาชาวป่าวอานถูกรุกรานจากศัตรูอพยพเร่ร่อนไปทางตะวันออก จนกระทั่งไปตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณที่เป็นมณฑลกานซูในปัจจุบัน หมู่บ้านชาวเผ่าป่าวอานที่สำคัญคือหมู่บ้านต้าตุน (大墩Dàdūn) กานเหมย (甘梅Gānméi) เกาหลี่ (高李Gāo lǐ) คนภายนอกจึงมักเรียกพวกป่าวอานว่า “ป่าวอานซานจวง” (保安三庄 Bǎo’ān sān zhuānɡ) ซึ่งหมายถึง “ป่าวอานสามคุ้ม”
พื้นที่อยู่อาศัยของชาวป่าวอาน คือ บริเวณอากาศอบอุ่นติดเชิงเขาและติดแม่น้ำ เหมาะแก่การเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ ในช่วงก่อนการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนชาวป่าวอานมีฐานะยากจน และพัฒนาช้า ผู้ที่เป็นเจ้าของที่ดินมีจำนวนน้อยมาก ในขณะที่ชาวป่าวอานที่เช่าที่ทำกินและมีฐานะยากจนมากกว่าหลายเท่า ด้วยเหตุที่การชลประทานต้นน้ำเป็นของเจ้าของที่ดิน การทำการเกษตรของชาวป่าวอานจึงเป็นไปด้วยความยากลำบาก การเก็บค่าเช่าที่ก็ขูดเลือดขูดเนื้อ ทำให้คนจนไม่มีโอกาสได้ลืมตาอ้าปากได้เลย สังคมแบบศักดินาที่กดขี่คนจนเยี่ยงทาสนี้ทำให้ระบบสังคมเศรษฐกิจและการเกษตรของชาวป่าวอานไม่เกิดการพัฒนา ซ้ำร้ายการเก็บภาษีจากรัฐบาลแบบรีดเลือดจากปู ทำให้ชาวป่าวอานส่วนใหญ่บ้านแตกสาแหรกขาด กระจัดกระจายโยกย้ายไปทำมาหากินที่อื่น
อาชีพหลักของชาวป่าวอานคือการทำการเกษตร บางส่วนทำการฝีมือเป็นอาชีพรอง ในยุคก่อนราชวงศ์ชิงคือช่วงที่จะอพยพไปตะวันออกนั้น ชาวป่าวอานรู้จักการทำการเกษตรแล้ว แต่หลังจากที่อพยพไปตะวันออกก็เริ่มเรียนรู้การทำเกษตรเพิ่มขึ้นจากชาวฮั่นและชาวหุย พืชที่ปลูกคือจำพวกถั่วและข้าวบาเล่ย์ รู้จักใช้เครื่องมือเครื่องไม้ และวิทยาการเกษตรสมัยใหม่แล้ว หลังจากปี 1949 เป็นต้นมาชาวป่าวอานปลูกพืชเศรษฐกิจหลากหลายชนิดเช่น ข้าวบาเล่ย์ ถั่วต่างๆ มันฝรั่ง ข้าวสาลี งานหัตถกรรมคือการตีมีด มีดป่าวอานมีประวัติความเป็นมายาวนานนับร้อยปีมาแล้ว ชาวป่าวอานทุกครัวเรือนมีโรงตีมีดเล็กๆ เป็นของตนเอง มีดของชาวป่าวอานนอกจากจะมีความคมกริบและใช้ทนแล้ว ยังมีความงดงามตามแบบศิลปะพื้นบ้านประจำเผ่าอีกด้วย โดยเฉพาะมีดาบคู่ของชาวป่าวอานเป็นที่เลื่องลือยิ่ง ชาวป่าวอานใช้โลหะทองแดงหรือทองเหลืองตีมีด ใช้กระดูกวัวทำด้าม ลวดลายบนมีดงดงาม สมคำร่ำลือที่ว่า มีดป่าวอานรวมทิวทัศน์สิบอย่าง มีชื่อเสียงเลื่องลือไปทั่วมณฑลกานซู ชิงห่าย และทิเบต
หลังการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ชาวป่าวอานมีสิทธิในการปกครองตนเอง ตั้งแต่ปี 1952 เป็นต้นมารัฐบาลจัดตั้งหมู่บ้านชาวป่าวอานขึ้นในบริเวณที่ชาวป่าวอานตั้งถิ่นฐานมาแต่อดีต โดยในปี 1981 รัฐบาลได้จัดตั้งเขตปกครองตนเองเผ่าป่าวอานเผ่าซาลาร์และเผ่าตงเซียงขึ้นที่เขาจีสือ (积石山Jīshíshān) หัวหน้าเขตปกครองตนเองเขตนี้ชาวป่าวอานได้รับเลือกดำรงตำแหน่งระดับสูงเป็นส่วนใหญ่ ทั้งมีบทบาททางการเมืองระดับประเทศอีกด้วย หลังจากการปฏิวัติวัฒนธรรม ระบบความเชื่อ ศาสนา และสังคมแบบศักดินาถูกกำจัดหมดสิ้นจากสังคมป่าวอาน
ในช่วงสี่สิบปีมานี้ ผลจากการเปลี่ยนแปลงของประเทศจีนทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม สภาพชีวิตของชาวป่าวอานก็มีการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น ปัจจุบันบริเวณชุมชนชาวป่าวอานที่เมืองต้าเหอเจีย(大河家Dàhéjiā)และหลิวจี๋(刘集Liújí) มีการสร้างงานด้านชลประทาน ประมง การตีมีด รวมไปถึงพืชผลทางการเกษตร การปลูกผลไม้ เช่น ท้อ หลิว ก็ถือเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับชาวป่าวอานอย่างมาก มีการก่อสร้างโรงพยาบาล ตลาด หน่วยงานโทรเลข โรงเรียนประถมมัธยมก็มีการก่อตั้งขึ้นมากกว่าเดิมหลายสิบเท่า
ด้วยประวัติความเป็นมาอันยาวนาน ชาวป่าวอานก่อกำเนิดและสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีที่หลากหลายและงดงาม นิทานพื้นบ้าน เพลงกลอน ภาษิต คำพังเพยส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับความรักอันบริสุทธิ์ของหนุ่มสาวชาวป่าวอาน ชาวป่าวอานมีนิสัยสนุกสนานร่าเริงชอบร้องเพลงเต้นรำ ไม่มีชาวป่าวอานคนใดที่ไม่รู้จักเพลงประจำเผ่าชื่อ “มาลีแห่งป่าวอาน” ทำนองเพลงและการเต้นรำที่รื่นเริง กระชับฉับไวและครึกครื้นรื่นเริงได้รับอิทธิพลมาจากชาวทิเบต หนุ่มๆชาวป่าวอานชำนาญการบรรเลงพิณไม้ไผ่ สาวๆ ป่าวอานเชี่ยวชาญการตัดฉลุกระดาษ นับเป็นศิลปะประจำเผ่าที่งดงามและสะท้อนความเป็นป่าวอานได้เป็นอย่างดี
ขนบธรรมเนียม ประเพณีต่างๆของชาวป่าวอานได้รับอิทธิพลจากศาสนาอิสลามอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ด้วยเหตุที่อาศัยอยู่ร่วมกับชนกลุ่มน้อยเผ่าอื่นๆ เช่น เผ่าหุยและฮั่น ทำให้วัฒนธรรมของชาวป่าวอานได้รวมวัฒนธรรมของทั้งศาสนาอิสลาม วัฒนธรรมชาวเผ่าหุยและฮั่นไว้อย่างกลมกลืน ครอบครัวของชาวป่าวอานเดิมจะอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ ต่อมาเมื่อลูกชายลูกสาวแต่งงานมีครอบครัวใหม่ เริ่มแยกไปตั้งครอบครัวเล็กเป็นของตนเอง ในครอบครัวหนึ่งพ่อแม่มีสิทธิสูงสุดในการดูแลบริหารครอบครัว ไม่เว้นแม้แต่การเลือกคู่ครองและการแต่งงานของบุตรล้วนจัดการโดยพ่อแม่ ชาวป่าวอานจะไม่แต่งงานกับคนที่นับถือศาสนาอื่น จะแต่งงานกับคนที่นับถือศาสนาอิสลามด้วยกันเท่านั้น การแต่งงานต้องได้รับอนุญาตจากหัวหน้าศาสนาของเผ่าเสียก่อนจึงจะกระทำได้ พิธีการแต่งงานของชาวป่าวอานพิเศษกว่าใครๆ ตั้งแต่การเริ่มติดต่อขอสาว พ่อแม่ฝ่ายชายต้องมอบของขวัญมูลค่าสูงให้ฝ่ายหญิง เรียกว่า “จองชา” หลังจากนั้น วันแต่งงานก็ยังต้องมอบของขวัญวันแต่งงานให้อีก เมื่อแต่งงานสามวันแรกเจ้าสาวจะอยู่ที่บ้านสามี แต่จะไม่กินข้าวบ้านสามี แม่ฝ่ายหญิงจะเอาข้าวมาส่งจนครบสามวัน
อาหารการกินของชาวป่าวอานมีข้าวสาลี ข้าวโพดเป็นอาหารหลัก แป้งที่ทำมาจากข้าวสาลีหรือแป้งข้าวโพดมีการแปรรูปเป็นหม่านโถว เส้นหมี่ หมี่ทอด ขนมแป้งทอด สำหรับอาหารพวกเนื้อสัตว์นั้น ชาวป่าวอานกินเนื้อแกะ เนื้อวัว แต่จะไม่กินเนื้อหมู ไม่กินสัตว์ป่าและไม่กินเลือดสัตว์
เครื่องแต่งกายของชาวป่าวอานมีลักษณะเด่นเฉพาะตัว ชายชาวป่าวอานสวมหมวกกลมใบเล็ก ๆ สีขาวครอบศีรษะ ใส่เสื้อเชิ้ตสีขาวแล้วคลุมทับด้วยเสื้อกั๊ก ถ้าเป็นงานพิธีสำคัญจะสวมเสื้อคลุมมีปกทับอีกชั้นหนึ่ง คาดเข็มขัดผ้าเหน็บด้วยมีดป่าวอาน สวมบู๊ทหนัง ชุดสตรีเป็นชุดยาวตัดด้วยผ้าสักหลาดสีสดใสเช่น สีม่วง แดง หรือเขียว คลุมศีรษะด้วยผ้าแพรสีสดใส
บ้านเรือนของชาวป่าวอานสร้างด้วยดินและไม้ เป็นบ้านชั้นเดียว ชายคาบ้านสร้างให้เชื่อมต่อกับบ้านหลังอื่นๆ ติดกันไปเป็นแถบ
ชาวป่าวอานนับถือศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่ แต่ชาวป่าวอานที่อาศัยอยู่ต่างพื้นที่กันมีการนับถือศาสนาแตกต่างกัน แบ่งเป็นสุหนี่เก่าและใหม่ ศาสนาอิสลามเผยแพร่เข้ามาสู่ชาวป่าวอานได้อย่างไรไม่มีหลักฐานแน่ชัด แต่บันทึกทางประวัติศาสตร์ระบุว่าตั้งแต่ต้นราชวงศ์หมิงชาวป่าวอานก็เริ่มนับถือศาสนาอิสลามแล้ว แต่ที่มีหลักฐานยืนยันได้ชัดเจนและเริ่มมีการนับถืออย่างเป็นเรื่องเป็นราวเริ่มตั้งแต่สมัยจักรพรรดิคังซีในราชวงศ์ชิง ศาสนาอิสลามไม่เพียงแต่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวป่าวอานมาช้านาน แต่ยังเป็นปัจจัยหลักที่ทรงอิทธิพลอย่างแรงกล้าต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของชาวป่าวอานตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน
เทศกาลสำคัญของชาวป่าวอาน นอกจากเทศกาลวันปีใหม่ตามปฏิทินของชนกลุ่มน้อยแล้ว เทศกาลต่างๆ ล้วนจัดตามเทศกาลในศาสนาอิสลาม
เขียนโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เมชฌ สอดส่องกฤษ
阿昌族เผ่าอาชาง
布依族 เผ่าปู้อี (ปูเยย)
德昂族 เผ่าเต๋ออ๋าง
鄂伦春族 เผ่าเอ้อหลุนชุน
仡佬族 เผ่าเกอลาว
回族 เผ่าหุย
柯尔克孜族 เผ่าเคอร์กิส
珞巴族 เผ่าลั่วปา
蒙古族 เผ่ามองโกล
怒族 เผ่านู่
畲族 เผ่าเซอ
土族 เผ่าถู่
乌兹别克族 เผ่าอุสเบค
水族 เผ่าสุ่ย
锡伯族 เผ่าซีโป๋
瑶族 เผ่าเหยา
白族 เผ่าป๋าย
朝鲜族 เผ่าเฉาเสี่ยน
侗族 เผ่าต้ง
俄罗斯族 เผ่ารัสเซีย
哈尼族 เผ่าฮานี
基诺族 เผ่าจีนั่ว
拉祜族 เผ่าลาหู่ (ชาวมูเซอ)
满族 เผ่าหม่าน
苗族 เผ่าเหมียว
普米族 เผ่าผูหมี่
土家族 เผ่าถู่เจีย
彝族 เผ่าอี๋
保安族 เผ่าป่าวอาน
达斡尔族 เผ่าต๋าโว่ร์
东乡族 เผ่าตงเซียง
鄂温克族 เผ่าเอ้อเวินเค่อ
哈萨克族 เผ่าคาซัค
京族 เผ่าจิง
黎族 เผ่าหลี
毛南族 เผ่าเหมาหนาน
仫佬族 เผ่ามู่หล่าว
羌族 เผ่าเชียง
塔吉克族 เผ่าทาจิค
佤族 เผ่าว้า
布朗族 เผ่าปลัง
傣族 เผ่าไต
独龙族 เผ่าตรุง
高山族เผ่าเกาซาน
赫哲族 เผ่าเฮ่อเจ๋อ
景颇族 เผ่าจิ่งโพ
傈僳族 เผ่าลี่ซู
门巴族 เผ่าเหมินปา
纳西族 เผ่าน่าซี
撤拉族 เผ่าซาลาร์
塔塔尔族 เผ่าทาทาร์
维吾尔族 เผ่าอุยกูร์
裕固族 เผ่ายวี่กูร์
藏族 เผ่าทิเบต
壮族 เผ่าจ้วง