Site icon ENLIGHTENTH

ประวัติความเป็นมาและพัฒนาการของตัวอักษรภาษาจีน

ตอนที่ 2

การพัฒนาของอักษรจีนสามารถแบ่งได้เป็นช่วงเวลาคร่าวๆดังนี้

1.ช่วงเวลาอักษรจีนโบราณ

1.1 อักษรกระดองเต่า (甲骨文)
สมัยราชวงศ์ซาง ปี 1766  ถึงปี 1122 ก่อนคริสตศักราช 1.2 อักษรจินเหวิน (金文)
สมัยราชวงศ์โจว ปี 1122  ถึงปี 256 ก่อนคริสต์ศักราช 1.3 อักษรเสี่ยวจ้วน (小篆)
สมัยราชวงศ์ฉิน ปี  221 ถึงปี 206 ก่อนคริสต์ศักราช

2.ช่วงเวลาอักษรจีนปัจจุบัน

2.1 อักษรลี่ซู  (隶书)
สมัยราชวงศ์ฮั่น  220 ปีก่อนคริสต์ศักราช – ปัจจุบัน 2.2 อักษรบรรจง(楷书)
สมัยปลายราชวงศ์ฮั่น  206 ปีก่อนคริสต์ศักราชจนถึงปัจจุบัน 2.3 อักษรหวัด(草书)
เป็นศิลปะการเขียนพู่กันแบบหวัดที่เกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก  คริสตศักราช 25 – ปัจจุบัน 2.4 อักษรบรรจงแกมหวัด(行书)
เป็นศิลปะการเขียนพู่กันแบบหวัด ที่เกิดขึ้นหลังสมัยเว่ย – จิ้น  คริสตศักราช 265 – ปัจจุบัน

3.ช่วงเวลาการย่อรูปของอักษรจีน(简体字)

          เป็นอักษรจีนที่ถูกรถขีดให้เหลือขีดน้อยลงในสมัยปฏิรูปตัวอักษรจีนเมื่อปี 1956  ถูกใช้ในประเทศจีนแผ่นดินใหญ่และทั่วโลก 简体字 ซึ่งอักษรจีนที่ไม่ได้ถูกลดรูปจะถูกเรียกว่า 繁体字 ใช้ในไต้หวันและฮ่องกงเป็นหลัก

 

พัฒนาการของตัวอักษรในสมัยต่างๆ

1.อักษรกระดองเต่า / อักษรบนกระดูกสัตว์ (甲骨文)

          เมื่อปี ค.ศ. 1899 ชาวบ้านจากหมู่บ้านเล็ก ๆแห่งหนึ่งทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภออันหยางมณฑลเหอหนันประเทศจีนได้ ค้นพบสิ่งที่เรียกกันว่า ‘กระดูกมังกร’ จึงนำมาใช้ทำเป็นตัวยารักษาโรค ต่อมาเนื่องจากพ่อค้าหวังอี้หรงเกิดความสนใจต่อตัวอักษรบนกระดูก จึงสะสมไว้มีจำนวนกว่า 5,000 ชิ้นและส่งให้ผู้เชี่ยวชาญทำการศึกษาวิจัย จึงพบว่ากระดูกมังกรนั้นแท้ที่จริงคือกระดูกที่จารึกอักขระโบราณของยุคสมัย ซาง ที่มีอายุเก่าแก่ถึง 1,300 ปีก่อนคริสตกาล

          อักษรกระดองเต่าเป็นอักษรโบราณที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดของจีนเท่าที่มีการค้นพบในปัจจุบัน ส่วนมากมากอยู่ใน รูปของบันทึกการทำนายที่ใช้มีดแกะสลักหรือจารลงบนกระดองเต่าหรือกระดูกสัตว์ ปรากฏ แพร่หลายในราชสำนักซางเมื่อ 1,300 – 1,100 ปีก่อนคริสตกาล ลักษณะของตัวอักษรบางส่วน ยังคง มีลักษณะของความเป็นอักษรภาพอยู่ โครงสร้างตัวอักษรเป็นรูปวงรี มีขนาดใหญ่เล็กแตกต่างกัน  ขนาดใหญ่บ้างสูงถึงนิ้วกว่า ขนาดเล็กเท่าเมล็ดข้าว บางครั้งในอักขระตัวเดียวกันยังมีวิธีการเขียนที่ แตกต่างกัน

          อักษรกระดองเต่า / อักษรบนกระดูกสัตว์ ยังมีการพัฒนาการในแต่ละช่วงเวลา โดยมี ลักษณะพิเศษ กล่าวคือ ยุคต้น ตัวอักษรมีขนาดใหญ่ ยุคกลาง มีขนาดเล็กและลายเส้นที่เรียบง่ายกว่า ความเป็นเอกภาพของแต่ละตัวอักษรยังไม่คงที่ บางครั้งตัวอักษรหลายตัวเขียนชิดติดกันจนดูคล้ายกับ เป็นตัวอักษรตัวเดียว หรือบางครั้งตัวอักษรเพียงหนึ่งตัวแต่เขียนห่างกันจนดูเหมือนเป็นตัวอักษร หลายตัว เมื่อถึงยุคปลายจะมีลักษณะใกล้เคียงกับอักษร 金文 หรืออักษรโลหะ/สำริด ที่มีความเป็น ระเบียบมากขึ้น

 

2.อักษรจินเหวิน (金文)

          อักษรโลหะ(金文) เป็นอักษรที่ใช้ในสมัยซางต่อเนื่องถึงราชวงศ์โจว (1,100 – 771 ปีก่อนคริสตศักราช) มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ‘จงติ่งเหวิน’(钟鼎文)หมายถึงอักษรที่หลอมลงบนภาชนะทองเหลืองหรือสำริด เนื่องจากตัวแทนภาชนะสำริดในยุคนั้นได้แก่ ‘ติ่ง’ 鼎

 

          ซึ่งเป็นภาชนะคล้ายกระถางมีสามขา ใช้แสดงสถานะทางสังคมของคนในสมัยนั้นและตัวแทนจากเครื่องดนตรีที่ทำจากโลหะ คือ 钟 ‘จง’ หรือระฆัง ดังนั้นอักษรที่สลักหรือหลอมลงบนเครื่องใช้โลหะดังกล่าวจึงเรียกว่า ‘จงติ่งเหวิน’ มีลักษณะพิเศษ คือ มีลายเส้นที่หนาหนัก ร่องลายเส้นราบเรียบที่ได้จากการหลอม ไม่ใช่การสลักลงบนเนื้อโลหะ อักษรโลหะในสมัยหลังรัชสมัยเฉิงหวังและคังหวังแห่งราชวงศ์โจว จะมีความสง่างาม สะท้อนภาพลักษณ์ที่สุขุมเยือกเย็น

          เนื้อหาที่บันทึกด้วยอักษรโลหะ โดยมากเป็น คำสั่งการของชนชั้นผู้นำ พิธีการบูชาบรรพบุรุษ บันทึกการทำสงคราม เป็นต้น มีการบันทึกการค้นพบอักษรโลหะตั้งแต่รัชสมัยฮั่นอู่ตี้ในราชวงศ์ฮั่น (116 ปีก่อนคริสตศักราช) บนภาชนะ ‘ติ่ง’ 鼎 ที่ส่งเข้าวังหลวง ดังนั้น จึงมีการศึกษาและการทำอรรถาธิบายจากปัญญาชนในยุคต่อมา

 

3.อักษรเสี่ยวจ้วน (小篆)

          จากสมัยชุนชิวจั้นกว๋อจนถึงยุคการก่อตั้งราชวงศ์ฉิน (770 – 202 ปีก่อนคริสตศักราช) โครงสร้างของตัวอักษรจีนโดยมากยังคงรักษารูปแบบเดิมจากราชวงศ์โจวตะวันตก ซึ่งนอกจากอักษรโลหะแล้ว ยังมีอักษรรูปแบบต่าง ๆที่เหมาะกับการบันทึกลงในวัสดุแต่ละชนิด เช่น อักษรที่ใช้ในการลงนามสัตยาบันร่วมระหว่างแว่นแคว้นที่สลักลงบนแผ่นหยกก็ เรียกว่า หนังสือพันธมิตร หากสลักลงบนไม้ก็เรียกสาส์นไม้ หากสลักลงบนหินก็เรียก ตัวหนังสือกลองหิน ฯลฯ นอกจากนี้ ก่อนการรวมประเทศจีนบรรดาเจ้านครรัฐหรือแว่นแคว้นต่างก็มีตัวอักษรที่ใช้แตก ต่างกันไป ซึ่งส่วนหนึ่งได้แก่อักษรจ้วนใหญ่หรือต้าจ้วน (大篆)ซึ่งเป็นต้นแบบของเสี่ยวจ้วนในเวลาต่อมา

          ภายหลังจากจิ๋นซีฮ่องเต้ได้รวมแผ่นดินจีนเข้าด้วยกันในปีค.ศ. 221 แล้ว ก็ทำการปฏิรูประบบตัวอักษรครั้งใหญ่ โดยการสร้างมาตรฐานรูปแบบตัวอักษรที่เป็นหนึ่งเดียวกันทั่วประเทศ กล่าวกันว่า ภายใต้การผลักดันของมหาเสนาบดีหลี่ซือ ได้มีการนำเอาตัวอักษรดั้งเดิมของรัฐฉิน(อักษรจ้วน)มาปรับให้เรียบง่ายขึ้น จากนั้นเผยแพร่ออกไปทั่วประเทศ ขณะเดียวกัน ก็ยกเลิกอักษรที่มีลักษณะเฉพาะจากแว่นแคว้นอื่น ๆในยุคสมัยเดียวกัน อักษรที่ผ่านการปฏิรูปนี้ รวมเรียกว่า อักษรเสี่ยวจ้วนหรือจ้วนเล็ก (小篆)ถือเป็นอักษรที่ใช้ทั่วประเทศจีนเป็นครั้งแรก

 

4.อักษรลี่ซู  (隶书)

          ขณะที่ยุคสมัยฉินประกาศใช้อักษรจ้วนเล็กอย่างเป็นทางการ พร้อมกันนั้นก็ปรากฏว่ามีการใช้อักษรลี่ซู(隶书)ควบคู่กันไป โดยมีการประยุกต์มาจากการเขียนอักษรจ้วนอย่างง่าย อักษรลี่ซูทำให้อักษรจีนก้าวเข้าสู่ขอบเขตของอักษรสัญลักษณ์อย่างเต็มรูปแบบ อาจกล่าวได้ว่า เป็นกระบวนการของการเปลี่ยนรูปจากอักษรโบราณที่ยังมีความเป็นอักษรภาพสู่ อักษรจีนที่ใช้ในปัจจุบัน  

          สำหรับที่มาของอักษรลี่ซูนั้น กล่าวกันว่าสมัยฉินมีทาสที่เรียกว่าเฉิงเหมี่ยวผู้หนึ่ง เนื่องจากกระทำความผิด จึงถูกสั่งจำคุก เฉิงเหมี่ยวที่อยู่ในคุกคุมขังจึงคิดปรับปรุงตัวอักษรจ้วนให้เขียนง่ายขึ้น จากโครงสร้างกลมเปลี่ยนเป็นสี่เหลี่ยมกลายเป็นอักษรรูปแบบใหม่ จิ๋นซีฮ่องเต้ทอดพระเนตรเห็นแล้วทรงโปรดอย่างมาก จึงทรงแต่งตั้งให้เฉิงเหมี่ยวทำหน้าที่อารักษ์ในวังหลวง ต่อมาตัวหนังสือชนิดนี้แพร่หลายออกไป จึงมีการเรียกชื่อตัวหนังสือชนิดนี้ว่า อักษรลี่ซูหรืออักษรทาส (คำว่า ‘ลี่’ ในภาษาจีนหมายถึง ทาส)

          แต่ในเชิงโบราณคดีนั้น พบว่าอักษรลี่ซูเป็นอักษรที่ใช้เขียนบนวัสดุที่ทำจากไม้หรือไม้ไผ่มาตั้งแต่ ยุคจั้นกว๋อจนถึงสมัยฉิน และมีพัฒนาการมาเรื่อย ๆ จวบถึงสมัยราชวงศ์ฮั่นได้กลายเป็นอักษรที่ได้รับความนิยมสูงสุด

 

 

5.อักษรบรรจง(楷书)

          อักษรข่ายซู(楷书)หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าอักษรจริง (真书)เป็นอักษรจีนรูปแบบมาตรฐานใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน (คำว่า ‘楷’ อ่านว่า ข่าย มีความหมายว่าแบบฉบับหรือตัวอย่าง) อักษรข่ายซูเป็นเส้นสัญลักษณ์ที่ประกอบกันขึ้น ภายใต้กรอบสี่เหลี่ยม หลุดพ้นจากรูปแบบอักษรภาพของตัวอักขระยุคโบราณอย่างสิ้นเชิง

          อักษรข่ายซูมีต้นกำเนิดในยุคปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออก ภายหลังราชวงศ์วุ่ยจิ้น(สามก๊ก) (คริสตศักราช 220 – 316) ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย จากการก้าวเข้าสู่ขอบเขตขั้นใหม่ของอักษรลี่ซู พัฒนาตามมาด้วย อักษรข่ายซู เฉ่าซู และสิงซู ก้าวพ้นจากข้อจำกัดของลายเส้นที่มาจากการแกะสลัก เมื่อถึงยุคถัง(คริสตศักราช 618 – 907) จึงก้าวสู่ยุคทองของอักษรข่ายซูอย่างแท้จริง จวบจนปัจจุบัน อักษรข่ายซูยังเป็นอักษรมาตรฐานของจีน

 

6.อักษรหวัด(草书)

          ตั้งแต่กำเนิดมีตัวอักษรจีนเป็นต้นมา อักษรแต่ละรูปแบบล้วนมีวิธีการเขียนแบบตัวหวัดทั้งสิ้น จวบจนถึงราชวงศ์ฮั่น อักษรหวัดจึงได้รับการเรียกขานว่า ‘อักษรเฉ่าซู’ (草书)อย่างเป็นทางการ (คำว่า ‘เฉ่า’ ในภาษาจีนหมายถึง อย่างลวก ๆหรืออย่างหยาบ) อักษรเฉ่าซู เกิดจากการนำเอาลายเส้นที่มีแต่เดิมมาย่นย่อเหลือเพียงขีดเส้นเดียว โดยฉีกออกจากรูปแบบอันจำเจของกรอบสี่เหลี่ยมในอักษรจีน หลุดพ้นจากข้อจำกัดของขั้นตอนวิธีการขีดเขียนอักษรในแบบมาตรฐานตัวคัดหรือ ข่ายซู ในขณะที่อักษรข่ายซูอาจประกอบขึ้นจากลายเส้นสิบกว่าสาย แต่อักษรเฉ่าซูเพียงใช้ 2 – 3 ขีดก็สามารถประกอบเป็นสัญลักษณ์เช่นเดียวกันได้ การเขียนอักษรจีนแบบหวัดถือเป็นศิลปะอย่างหนึ่งของนักปราชญ์ชาวจีนในสมัยโบราณ มีนักคิดนักเขียนหลายท่านที่เขียนอักษรจีนแบบหวัดสวยงามจนกลายมาเป็นแบบอย่างของการเขียนพู่กันแบบหวัดในปัจจุบัน การปล่อยให้เส้นและลายเคลื่อนไหวไปตามธรรมชาติโดยไม่ได้อยู่ในกรอบ ทำให้ผู้เขียนสามารถสะท้อนความรู้สึก ณ เวลานั้นออกมาผ่านตัวอักษรได้

          ความสำคัญของอักษรแบบหวัดคือการทำให้ตัวอักษรหลายๆตัวถูกลดจำนวนขีดลง และถือเป็นหนึ่งในพื้นฐานของการลดขีดของตัวอักษรในปัจจุบัน

 

7.อักษรบรรจงแกมหวัด(行书)

          อักษรสิงซู(行书)เป็นรูปแบบตัวอักษรที่อยู่กึ่งกลางระหว่างอักษรข่ายซูและ อักษรเฉ่าซู เกิดจากการเขียนอักษรตัวบรรจงที่เขียนอย่างหวัดหรืออักษรตัวหวัดที่เขียน อย่างบรรจง อาจกล่าวได้ว่า เป็นตัวอักษรกึ่งตัวหวัดและกึ่งบรรจง อักษรสิงซูกำเนิดขึ้นในราวปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออก รวบรวมเอาปมเด่นของอักษรข่ายซูและเฉ่าซูเข้าด้วยกัน คือการเขียนแบบบรรจงแต่ประวัติปลายพู่กันแบบอักษรหวัด

          ตัวอักษรจีนสามารถแบ่งออกเป็นอักขระที่ใช้ในสมัยโบราณกับอักษรที่ใช้ใน ปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น อักษรลี่ซูซึ่งเป็นรูปแบบของอักขระโบราณ อันเป็นต้นแบบของการปฏิรูปลักษณะตัวอักษรจีนครั้งใหญ่ กลายเป็นเส้นแบ่งระหว่างอักษรรุ่นเก่าและใหม่ ยุคสมัยที่ใช้อักษรลี่ซูและก่อนหน้านั้น ถือเป็นอักขระโบราณ ได้แก่ อักษรจารบนกระดูกสัตว์หรือเจี๋ยกู่เหวินจากสมัยซาง อักษรโลหะจากราชวงศ์โจวตะวันตก อักษรเสี่ยวจ้วนจากยุคสมัยจั้นกว๋อและสมัยฉิน หลังจากกำเนิดอักษรลี่ซูให้ถือเป็นอักษรในยุคปัจจุบัน อันได้แก่ อักษรลี่ซู อักษรข่ายซู สำหรับอักษรเฉ่าซูและสิงซู อาจกล่าวได้ว่าเป็นเพียงพัฒนาการของรูปแบบตัวอักษร ไม่ใช่วิวัฒนาการของตัวอักษรจีนโดยรวม

 

 

 

ปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบอักษรจีน

 

 

          ภาษาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกับการพัฒนาของสังคมมนุษย์ เมื่อสังคมมนุษย์มีความซับซ้อนมากขึ้น ภาษาและคำที่ใช้ในการสื่อสารกันจึงมีความซับซ้อนมากขึ้นด้วย ก่อนที่สังคมมนุษย์ยังไม่ได้สื่อสารกันผ่านตัวอักษรตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ระบบรูปแบบการสื่อสารที่ไม่ใช่การพูดมากมายหลายรูปแบบ แต่ต่อมาเมื่อมีการพัฒนาตัวอักษรขึ้นมาแล้ว อะไรคือปัจจัยที่ทำให้ตัวอักษรในแต่ละยุคสมัยมีความเป็นเอกลักษณ์ในตัวเอง

 

1.เครื่องมือการเขียน

          อักษรลิ่มเป็นอักษรที่ใช้ในยุคแรกๆของโลกใบนี้ โดยวิธีการเขียนจะใช้เครื่องมือที่ทำจากหินขีดเป็นลิ่มลงบนดินให้ประกอบเป็นตัวอักษร  ชาวสุเมเรียน ก็ใช้ต้นอ้อหรือกระดูกสัตว์มาทำเป็นปากกา ในเกาหลีมีการใช้หมึกที่ทำมาจากโคลน ดังนั้นจะเห็นได้ว่ารูปลักษณ์ของตัวอักษรจึงเปลี่ยนไปตามอุปกรณ์ที่ใช้เขียนนั่นเอง

          สัญลักษณ์โบราณและอักษรกระดองเต่าของชาวจีนโบราณถูกเขียนขึ้นมาจากการสลักลงบนกระดูกสัตว์และกระดองเต่าตามชื่อของมัน เนื่องจากพื้นที่การเขียนค่อนข้างแข็งและลื่น จึงต้องใช้เครื่องมือการสลักที่แข็งเช่นกัน เช่นหินหรืองาช้าง มีดซึ่งในการเขียนควบคุมทิศทางของลวดลายอักษรไม่ได้ง่ายนะ จึงทำให้สัญลักษณ์อักษรกระดองเต่าจะมีความเรียบง่ายของลวดลาย ต่อมาเมื่อมีการแกะสลักอักษรลงบนแผ่นไม้ทำให้ตัวอักษรจากสัญลักษณ์รูปภาพกลายเป็นตัวอักษรอย่างสมบูรณ์ กล่าวคือทำให้ตัวอักษรต้องอยู่ในบรรทัดและมีความจำกัดที่ตั้งอยู่ในบล็อก

          ต่อมาเมื่อมีการพัฒนาอุปกรณ์การเขียนเป็นพู่กัน ซึ่งกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมการเขียนตัวอักษรจีน พู่กันในสมัยแรกเริ่มทำมาจากขนของหนู ด้ามทำมาจากไม้ไผ่ น้ำหมึกทำมาจากขี้เถ้า น้ำมันและกาว ปลายพู่กันมีความสปริง ทำให้ตัวอักษรถูกเขียนออกมาได้อย่างตามใจผู้เขียน ความหนักเบาของลายเส้นเกาะสะท้อนความคิดและความรู้สึกของผู้เขียนได้อย่างชัดเจน

          เมื่อโลกรู้จักกับอุปกรณ์การเขียนที่เรียกว่าปากกา ตัวอักษรจีนก็ถูกพัฒนารูปแบบการเขียนปากกาชนิดต่าง ๆ เช่นกันซึ่งปกติแล้วจะเขียนด้วยอักษรแบบตัวบรรจงหรือว่าข่ายซู

2.วัสดุที่ใช้เขียน

          นอกจากเครื่องมือการเขียนที่ส่งผลกระทบต่อรูปแบบของตัวอักษรแล้ววัสดุที่ใช้เขียนก็ทำให้รูปแบบของตัวอักษรแตกต่างกัน ในสมัยโบราณวัสดุที่ใช้เขียนเช่น กระดูกสัตว์ กระดองเต่า เขาควาย สัมฤทธิ์ หิน ไม้ไผ่ แผ่นไม้ เป็นต้น ต่อมามีการเลือกใช้วัสดุที่อ่อนนุ่มมาเขียน เช่น หนังสัตว์ ผ้า และพัฒนาจนเกิดกระดาษขึ้น ซึ่งวัสดุที่ใช้เขียนเหล่านี้ทำให้อักษรจีนเกิดรูปแบบการเขียนต่างๆมากมาย

          อักษรกระดองเต่าตามชื่อของมันก็คือใช้กระดูกสัตว์หรือกระดองเต่าในการเขียน ใช้เครื่องมือการเขียนที่แข็งและแหลมคม ซึ่งเป็นพื้นฐานของรูปแบบของอักษรจีนที่ต้องเขียนให้มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยม ขีดของอักษรไม่เท่ากัน ขนาดของอักษรก็ไม่เท่ากัน มักใช้เส้นตรงเป็นหลัก เส้นโค้งพอมีให้เห็นบ้าง แต่วงกลมที่กรมแบบเป๊ะๆอย่างน้อยมาก

          อักษรโลหะถูกสลักขึ้นบนวัตถุที่เป็นโลหะ เนื่องจากการสลักไว้บนโลหะจึงทำให้ถูกเรียกว่า 钟鼎文 ส่วนอีกชื่อหนึ่งที่เรียกว่าอักษรจินเหวิน คำว่าจิน 金 ในอดีตหมายถึงโลหะหลากหลายประเภท  การเขียนอักษรบนโลหะทำขึ้นโดยการสลักอักษรบนแม่พิมพ์ จากนั้นดึงขึ้นรูป จึงทำให้ตัวอักษรเขียนง่าย ลักษณะเด่นของตัวอักษรโลหะก็คือ เส้นโค้งเยอะ ลายเส้นมีความเป็นธรรมชาติ และเส้นต่างๆค่อนข้างสมบูรณ์ และตัวอักษร 1 ตัวมีวิธีการเขียนหลากหลายจึงทำให้ได้ชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า ตัวอักษรหนอนนก 鸟虫体

          อักษรจ้วนทั้งเล็กและใหญ่ รายชื่อค่อนข้าง เรียวยาว มีลักษณะของบล็อกที่ชัดเจนที่สุด กำเนิดของ อักษรจีนบล็อก 方块形 อย่างแท้จริง อักษรจ้วนประกอบด้วยลายเส้นที่โค้ง สวยงาม

          อักษรลี่ซู ถูกพัฒนาขึ้นมาจากอักษรจ้วนใหญ่ เป็นอักษรที่ก้าวข้ามจากรูปภาพกลายมาเป็นสัญลักษณ์อักษรที่สมบูรณ์ เส้นประกอบเป็นจุด ขีดขวาง ขีดตั้ง เบี่ยงซ้ายและเบี่ยงขวา  วก อย่างชัดเจน มีโครงสร้างและมุมที่ตายตัวแล้ว แต่ลายเส้นก็ยังมีความอ่อนนุ่ม โค้งมน สุขุม ซึ่งทางนี้ล้วนมาจากเงื่อนไขของการเขียนที่อยู่บนแผ่นไม้ไผ่

          อักษรแบบหวัด เป็นอักษรที่ประกอบด้วยขีดไม่มากนัก ซึ่งมักเขียนไว้บนกระดาษ ผ้าไหม พื้นที่สัมผัสค่อนข้างลื่น เรียบ จึงทำให้เส้นที่ถูกเขียนลงไปนั้นมีความอ่อนช้อย พริ้วไหวราวกับสายลม อักษรหลายๆตัวที่ถูกเขียนแบบหวัดกลายมาเป็นพื้นฐานของตัวอักษรย่อในปัจจุบัน เช่น 東 เขียนเป็น 东   為 เขียนเป็น 为 長 เขียนเป็น 长 書 เขียนเป็น 书 เป็นต้น

3.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

          แม่พิมพ์อักษรจีนเป็นการพิมพ์ตัวอักษรลงบนกระดาษ อักษรในการพิมพ์มีความหลากหลายไปตามแต่ผู้พิมพ์ต้องการให้เป็น ตัวอักษรแม่พิมพ์ประเภทหนึ่งที่เรียกว่า 宋体字 ได้รับความนิยมมากที่สุด ลายเส้นมีความหนา บางอย่างลงตัว อยู่ในกรอบและมุมที่เป็นสี่เหลี่ยม ใช้เส้นตรงเป็นหลัก อ่านง่าย  แม้กระทั่งในคอมพิวเตอร์ปัจจุบัน หนังสือพิมพ์ ก็ยังนิยมใช้ 宋体字 ซึ่งมีพื้นฐานมาจากการจัดกระบวนการเขียนจากลายพู่กันให้เป็นเส้นตรง

 

4.อิทธิพลของคอมพิวเตอร์

          ตั้งแต่ที่มีการกำเนิดของคอมพิวเตอร์เป็นต้นมา รูปแบบการเขียนอักษรจีนถูกพัฒนาขึ้นจนนับไม่ถ้วน คร่าวๆ ประมาณหลักหมื่นจนถึงหลักแสนรูปแบบ แต่ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายมีอยู่เพียงประมาณ 3000 รูปแบบ ซึ่งการเข้ามาของคอมพิวเตอร์ทำให้การออกแบบรูปแบบของตัวอักษรจีนไร้ขีดจำกัด เราสามารถสร้างตัวอักษรแบบไหนขึ้นมาก็ได้