ทำความรู้จักกับภาษาจีนโบราณ (ภาษาเขียนโบราณ) 文言文

          ภาษาจีนโบราณ(文言文) หรืออีกชื่อหนึ่งคือ (汉文)เป็นภาษาจีนในลักษณะของภาษาเขียนของภาษาจีนที่บรรจงรจนาเป็นภาษาที่สวยงาม แตกต่างจากภาษาพูดค่อนข้างชัดเจน ปัจจุบันยังใช้กันอยู่ในประเทศจีน คาบสมุทรเกาหลี ญี่ปุ่น เวียดนาม และแถบริวกิว ภาษาจีนโบราณแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มได้แก่กลุ่ม จีนโบราณลึก กับจีนโบราณตื้น  โดยภาษาจีนโบราณลึก (深文言)หมายถึงภาษาจีนโบราณที่เกิดขึ้นโดยอาศัยพื้นฐานจากภาษาพูดของจีนก่อนสมัยฉิน ซึ่งประกอบด้วยชุดคำศัพท์และไวยากรณ์ที่มีลักษณะคล้ายกับภาษาพูดในสมัยนั้น ส่วน จีนโบราณตื้น (浅文言)คือภาษาจีนโบราณที่เกิดขึ้นในช่วงสมัยฮั่นตะวันออก ฮั่นตะวันตก วุ่ยจิ้น และราชวงศ์เหนือใต้ โดยมีการใช้มายาวนานจึงถึงช่วงปลายสมัยราชวงศ์ชิงและต้นสมัยปฏิวัติจีน

          ทว่า จีนสมัยกลางช่วงถังและซ่ง ภาษาพูดของจีนเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบยกเครื่องครั้งใหญ่ ทำให้ภาษาเขียนในสมัยนี้แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ด้วยกัน

  1. ภาษาเขียนที่เลียนแบบลักษณะจีนโบราณลึกของหนังสือสมัยโบราณยุคเก่า หนังสือที่่เขียนด้วยการเขียนประเภทนี้สมัยถังเช่น ถางซ่งปาต้าเจีย (唐宋八大家)
  1. ภาษาเขียนที่เป็นลักษณะของจีนโบราณตื้น เช่น พงศาวดารไซ่ฮั่น คัมภีร์พุทธศาสนาตงฮั่นฉบับแปล  หรือ《世说新语》 ของหลิวอี้ชิ่ง เป็นต้น
  2. ภาษาเขียนที่ใช้ภาษาพูดในขณะนั้น เช่น 变文 ในสมัยถัง ภาษา 话本 สมัยซ่ง  

          แม้ว่ากาลเวลาล่วงเลยมาหลายช่วงสมัย ภาษาเขียนภาษาจีนก็ยังปรากฏให้เห็นเหมือนในสมัยถังและซ่ง คือใช้ภาษาแบบแผนควบคู่กับภาษาพูดในการเขียนดังเดิม หนังสือที่ใช้ภาษาแบบแผนเรียบเรียง เช่น  พงศาวดารหมิง 明史  พงศาวดารชิง 清史稿 แต่ก็ยังมีหนังสือที่ใช้ภาษาปากเรียบเรียงเช่น ซ้องกั๋ง ไซอิ๋ว เป็นต้น

          เนื่องจากภาษาจีนโบราณนั้นมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และบางพื้นที่ก็มีการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างกันไป  ดังนั้นในพื้นที่ที่แตกต่างกันและช่วงเวลาแตกต่างกันจึงมีชุดคำศัพท์และไวยากรณ์สำหรับการเขียนที่แตกต่างกันไป  

          ก่อนศตวรรษที่ 20 มีหลายพื้นที่ที่เขียนด้วยตัวอักษรจีน ได้แก่ ประเทศจีน คาบสมุทรเกาหลี ญี่ปุ่น ริวกิว ไต้หวันและเวียดนาม ซึ่งการใช้การเขียนด้วยตัวอักษรจีนจึงทำให้บรรดาขุนน้ำขุนนางนักวิชาการสามารถสื่อสารกันผ่านตัวอักษรได้ ไม่ว่าภาษาที่พูดหรือสนทนากันจะเป็นภาษาใดก็สามารถทลายกำแพงของภาษานี้ด้วยการสื่อสารผ่านตัวอักษรจีน

          เช่น ในศตวรรษที่ 19 แทว็อนกุนฮึงซ็อนสามารถสื่อสารกับอู๋จ่างชิ่งขุนนางใหญ่จากราชสำนักชิงได้ด้วยการเขียนสนทนากัน ในศตวรรษที่ 20 เล้มห่านตม ( Lîm Hiàn-tông 林獻堂) คุยกับเหลียงฉีเชาสนทนากันด้วยการเขียนที่นางาซากิ   แต่หลังศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมาภาษาเขียนเหวินเหยียนเริ่มถูกแทนที่ด้วยภาษาพูดของขุนนางจีนหรือกว่านฮว่าหรือแมนดาริน และพื้นที่ต่างๆรวมถึงประเทศอื่นที่เคยเขียนด้วยตัวอักษรจีนก็เริ่มหันมาใช้ภาษาที่ตนพูดในการเขียนมากขึ้นและภาษาที่ใช้สื่อสารระหว่างประเทศแถบเอเชียตะวันออกก็แทนที่ด้วยภาษาอังกฤษ

นิยามของภาษาจีนโบราณ

ภาษาจีนโบราณมีคำนิยามแตกต่างกัน 3 รูปแบบได้แก่

  1. ภาษาจีนยุคโบราณ คือ ภาษาจีนที่ชาวจีนใช้ตั้งแต่ยุคประวัติศาสตร์จีนถึงสมัยสงครามฝิ่น เนื้อหาของภาษาจีนยุคโบราณนี้ถูกบันทึกเป็นตัวหนังสือไว้ โดยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีการบันทึกไว้ก็คือ อักษรกระดองเต่า หากนับจากอักษรกระดองเต่าเป็นต้นมา ภาษาจีนยุคโบราณมีอายุมากกว่า 3000 ปีแล้ว  โดยระยะ 3000 ปีที่ผ่านมานั้น ภาษาจีนมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างพลิกฝ่ามือ หากเรายึดเอาไวยากรณ์ คำศัพท์ และการเปลี่ยนแปลงของการออกเสียงพยางค์เป็นเกณฑ์แล้ว สามารถแบ่งช่วงของการเปลี่ยนแปลงได้เป็น 3 ช่วง คือ
    1. ยุคเก่า คือ สมัยก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 3 ได้แก่สมัยซาง โจว ฉิน ฮั่นตะวันตกและออก
    2. ยุคกลาง คือ สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 4 - 12 ได้แก่ ยุค 6 ราชวงศ์ ถัง และ ซ่ง
    3. ยุคใกล้ คือ สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 13 - 19 ได้แก่สมัย หยวน หมิง และชิง
  2. ภาษาจีนยุคโบราณเก่า
  3. ภาษาเขียนยุคเก่า

ลักษณะเด่นของภาษาจีนโบราณ

เมื่อเทียบกันระหว่างภาษาพูดและภาษาเขียนแล้ว หลักๆได้แก่ความแตกต่างด้านไวยากรณ์และคำศัพท์ โดยจะยกตัวอย่างให้เห็นอย่างชัดเจนด้านล่าง

ลักษณะเด่นด้านไวยากรณ์

โดยลักษณะเด่นด้านไวยากรณ์ได้แก่ ชนิดของคำและวากยสัมพันธ์ โดยทั่วไปภาษาเขียนโบราณนั้นชนิดของคำศัพท์จะไม่ค่อยตายตัว

  • ใช้ คำนาม เป็น คำกริยา ได้
    1. 「驢不勝怒,蹄之」(柳宗元三戒·黔之驴》),คำนาม「蹄」ในที่นี้ทำหน้าที่เป็นคำกริยาคือ 蹄踢
    2. 「縱江東父老憐而王我」(司马迁史記·项羽本纪》),คำนาม「王」โดยทำหน้าที่เป็นกริยาวลีคือ ทำให้เป็น………....「使……為王」。
    3. 「見其發矢十中八九,但微頷之」(歐陽修賣油翁》),「頷」เดิมทีเป็นคำนาม แปลว่า คาง「下巴」แต่ในทีนี้ทำหน้าที่เป็นคำกริยาแปลว่าพยักหน้า 點頭」
  • ใช้ คำนาม เป็น คำช่วย
  1. “少时,一狼径去,其一犬坐於前。”(蒲松龄聊斋志异》),คำนาม “犬” อยู่หน้าคำกริยา “坐” เป็นคำช่วยขยายกริยา แปลว่า …..ราวกับสุนัข “像犬一样地”
  2. “峰回路轉,有亭翼然临於泉上者,醉翁亭也。”(歐陽脩醉翁亭记》),“翼” อยู่หน้ากริยา “临”  ทำหน้าที่ขยายกริยา แปลว่า “像翼(翅膀)一样”。
  • เอากรรมของกริยาวางไว้ด้านหน้า วัตถุประสงค์คือ ทำให้ประโยครื่นไหลมากขึ้น เพื่อเป็นการเน้นกรรมของรูปประโยคจึงเอากรรมไว้ด้านหน้า โดยปกติจะเติมคำช่วยไว้ด้วย
  1. 荀偃令曰:“雞鳴而駕,基井夷灶,唯餘馬首是瞻。”(《左傳·襄公十四年》)

“馬首是瞻” ก็คือ “瞻馬首”  โดย “是” ทำหน้าที่เป็นคำช่วย

  • ในประโยคคำถาม ปฤจฉาสรรพนาม 誰  孰  何 悉 ล้วนถูกวางไว้หน้าคำกริยา
  1. 「臣實不才,又誰敢怨?」(《左傳》)
  2. 「吾誰欺?欺天乎!」(《論語》)
  3. “微斯人,吾谁与归?”(范仲淹岳阳楼记》)
  4. “我孰与城北徐公美?”(《战国策·邹忌讽齐王纳谏》)
  5. “王曰:‘缚者曷(通“何”)为者也?’”(《晏子春秋》)
  • ในประโยคปฏิเสธ เมื่อใช้คำสรรพนามเป็นกรรมของประโยค ปกติล้วนวางสรรพนามไว้หน้ากริยา
  1. 君子病无能焉,不病人之不己知也(《论语》)
  • การสลับตำแหน่งของคำในประโยค 以
  1. “全石以为底,近岸,卷石底以出。”(柳宗元《永州八记·小石潭记》),“全石以为底” ก็คือ “以全石为底” และ “卷石底以出” ก็คือ “石底卷以出”。
  • ในบางกรณีก็พบว่ามีการนำคำขยายคำนามวางไว้หลังคำนาม โดย คำขยายคำนามที่วางไว้ด้านหลังมักจะเติม 之 หรือ 者 เช่น
  1. 計未定,求人可使報秦者,未得。(司馬遷史記‧廉頗藺相如列傳》)
  2. 螾無爪牙之利,筋骨之强,上食埃土,下飲黃泉,用心一也。(《荀子‧勸學篇第一》)
  3. 馬之千里者,一食或盡粟一石。(韓愈《雜說四首》)
  • มักจะเจออักษรยืม ซึ่งปกติจะถูกกำหนดโดยนักประพันธ์คนนั้นๆเอง เช่น บางครั้งนึกตัวอักษรไม่ออก หรือบางครั้งก็เกิดจากเลี่ยงการใช้ตัวอักษรที่ซ้ำกับชื่อของผู้ใหญ่ในสังคมหรือบรรพบุรุษ เป็นต้น
  1. “问所从来,具答之,便要还家,设酒杀鸡作食。”(陶渊明桃花源记》,“要” คือ  “邀” ( 邀请)
  2. “子曰:‘学而时习之,不亦说乎?……’”(《论语·学而》),“说” ก็คือ “悦” (喜悦)
  3. “圣人非所与熙也,寡人反取病焉。”(《晏子春秋》),“熙” ก็คือ “嬉” (开玩笑)

ลักษณะเด่นด้านคำศัพท์

          ชุดคำศัพท์ของภาษาเขียนจีนโบราณและภาษาพูดมีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก โดยถ้าจะให้เห็นภาพต้องยกพจนานุกรมมาเปรียบเทียบให้ดู แต่ว่า หากจะให้อธิบายข้อเด่นของความแตกต่างนั้นก็คือภาษาเขียนจะสั้น กระชับ เป็นคำมูลพยางค์เดียว ภาษาพูดจะเป็นคำ หลายพยางค์

การสืบทอดภาษาเขียนภาษาจีนในปัจจุบัน

          สำหรับผู้ที่เรียนและผู้ที่ใช้ภาษาจีนอยู่แล้วนั้น ภาษาเขียนจีนโบราณเป็นการเขียนที่เข้าใจยาก การใช้งานไม่ค่อยกว้างขวาง คนที่สามารถอ่านและตีความได้อย่างถ่องแท้จะต้องผ่านการเรียนมาพอสมควร ซึ่งการเขียนภาษาเขียนโบราณก็ยิ่งทวีความยากขึ้นไปอีกเท่าตัว

          ตั้งแต่สมัยปลายราชวงศ์หมิงเป็นต้นมา ก็พบว่ามีเริ่มมีการสอบในกลุ่มบัณฑิต ซึ่งช่วงปลายราชวงศ์ชิง การสอบ  八股文 ก็ยิ่งเพิ่มการเปลี่ยนแปลงของทิศทางในแวดวงการศึกษาในสมัยนั้น  ครั้นเมื่อเกิดสงครามจีน - ญี่ปุ่นครั้งที่ 1  Sir Kai Ho  หูหลี่หยวน และนักวิชาการอีกหลายท่านก็เริ่มออกมาชี้แจงข้อด้อยของการสื่อสารด้วยภาษาเขียนโบราณ คือ

“以文言而道俗情,則為未學者所厭;以俗語而入文字,
又為讀書者所嗤。俗語、文言分為兩事,使筆如舌,戛戛其難。”

— 何啟 胡禮垣,《新政論議》

          ดังนั้นหลังสมัยการปฏิวัติวัฒนธรรมใหม่ ทางจีนจึงเริ่มมีการสนับสนุนแนวคิด “เขียนในสิ่งที่ปากพูด”  อ่านตัวอักษรจีนออกก็ตีความได้ ดังนั้นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ภาษาปากกลายเป็นภาษาเขียนด้วย แทนที่ภาษาเขียนโบราณไป

          แต่ก็มีหลายท่านมองว่า ภาษาเขียนโบราณ (ที่เข้าใจยากและจำกัดอยู่ในวงแคบ) นั้น การที่จะเข้าใจได้จะต้องผ่านการเรียนรู้และฝึกฝนและอาศัยการฝึกเขียนด้วยรูปแบบภาษาโบราณมาพอสมควรถึงสามารถเข้าใจและอธิบายความหมายของตัวอักษรที่เรียบเรียงเป็นบทความได้ แต่ทั้งนี้ก็เป็นเพราะคนในยุคปัจจุบันได้รับการศึกษาผ่านรูปแบบวากยสัมพันธ์สมัยปัจจุบันมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งในมุมกลับกัน ถ้าได้รับการเรียนภาษาเขียนโบราณมาตั้งแต่ยังเด็กก็จะไม่รู้สึกว่าภาษาเขียนโบราณนั้นยากแต่อย่างใด   และสำหรับคนที่ไม่ได้ใช้ภาษาเหนือเป็นภาษาแม่ตั้งแต่เด็กอยู่แล้ว การเขียนด้วยแพทเทิร์นอย่างแมนดารินก็ไม่ได้ง่ายกว่าการเขียนด้วยการเขียนโบราณเลยแม้แต่น้อย

การใช้ภาษาเขียนโบราณในจีนแผ่นดินใหญ่และไต้หวัน

          แม้ว่าในปัจจุบันวัฒนธรรมการเขียนได้เปลี่ยนไปใช้ไวยากรณ์ภาษาจีนปัจจุบันแล้วก็ตาม แต่ภาษาเขียนโบราณก็นับเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษของชาวจีน ชาวจีนจึงยังให้ความสำคัญกับภาษาแพทเทิร์นดังกล่าวพอสมควร และภาษาเขียนโบราณก็ยังส่งผลกระทบต่อภาษาเขียนปัจจุบันด้วยเช่นกัน จะเห็นได้ว่าแม้ว่าปัจจุบันนักเขียนนักวิชาการสัมมาอาชีพต่างๆล้วนใช้ภาษาเขียนปัจจุบันเป็นหลัก แต่เพื่อเพิ่มอรรถรสของภาษาให้ดูสุขุมสวยงามมากขึ้นก็ยังใช้ภาษาเขียนโบราณเขียนผสมไปบ้าง  

          ตัวอย่างที่ชัดเจนก็เช่นสำนวนสุภาษิตต่าง ๆ ล้วนแต่มาจากภาษาเขียนโบราณทั้งนั้น และสำหรับผู้ที่ศึกษาด้านวรรณคดีจีนแล้ว การฝึกฝนภาษาจีนโบราณนั้นเป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้เลย ในแวดวงการศึกษาของจีนแผ่นดินใหญ่และไต้หวัน วิชาภาษาจีนโบราณเป็นวิชาสามัญที่นักเรียนทุกคนต้องลงเรียน โดยจะเริ่มเรียนวิชาภาษาจีนโบราณตั้งแต่ ป.5 - ป.6 และก็ค่อยๆเพิ่มเนื้อหาให้เข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ จนระดับมัธยม โดยนับเป็นเนื้อหาหลัก ๆ ของวิชาภาษาที่เด็กจีนและไต้หวันทุกคนต้องเรียน (จนต้องขอชีวิต)  ส่วนในฮ่องกงเด็กนักเรียนก็เริ่มเรียนภาษาจีนโบราณตั้งแต่เด็ก และในระดับมัธยมก็มีการศึกษาค้นคว้ากันอย่างเป็นกิจลักษณะ

          เนื้อหาในการสอบแอนทรานซ์เข้ามหาลัยของนักเรียนจีนก็มีข้อสอบเนื้อหาภาษาจีนโบราณอยู่ด้วย แต่ว่านับตั้งแต่การประกาศของคณะกรรมการอุดมศึกษาจีนในปี 2012 เป็นต้นมา กำหนดว่าในการสอบเข้ามหาลัยอนุญาตให้ใช้เพียงภาษาเขียนปัจจุบันเท่านั้น ไม่อนุญาตให้ใช้ภาษาอินเตอร์เน็ต ภาษาเขียนโบราณ และตัวอักษรพ้องรูปใดๆก็ตาม ซึ่งนำมาด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ของผู้คนมากมาย แต่ว่าเงื่อนไขในการสอบดังกล่าวก็มิได้เข้มงวดนัก เพราะคณะกรรมการตรวจสอบก็พิจารณาในสถานการณ์จริงในข้อสอบมากกว่า

          ในฮ่องกงซึ่งใช้ภาษากวางตุ้งเป็นหลักนั้น ในโครงสร้างของภาษายังมีร่องรอยของภาษาจีนโบราณอยู่มากเช่นกัน โดยในการเขียนบทความหนึ่ง ๆ มักปรากฏรูปแบบการเขียนให้เห็นทั้ง 3 รูปแบบ คือ จีนปัจจุบัน + จีนโบราณ + จีนกวางตุ้ง หรือไม่ก็ใช้แค่ จีนปัจจุบัน + จีนโบราณ

          กิมย้งผู้เขียนนวนิยายกำลังภายในที่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามนั้น ใช้รูปแบบการเขียน จีนปัจจุบัน + จีนโบราณ 2 แพทเทิร์น ด้วยเหตุนี้ ชาวฮ่องกงยุค 70 80 90 ก็ยังได้สืบทอดภาาาจีนโบราณอยู่บ้าง

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ 金庸

          แม้ว่าการปฏิวัติวัฒนธรรมใหม่ผ่านมาแล้ว 100 กว่าปี ภาษาเขียนโบราณก็ยังถูกใช้ในประกาศของทางรัฐบาลไต้หวันเรื่อยมา  เช่นประกาศเข้ารับตำแหน่งที่ปรึกษาของสมาชิกกรรมการ หวงซูอิง ของสภานิติบัญญัติแห่งไตหวัน ก็ใช้ภาษาโบราณเรียบเรียงประกาศขึ้น ซึ่งการใช้ภาษาจีนโบราณที่มีลักษณะเด่นสั้นแต่ลึกนี้ ทำให้ผู้เข้ารับตำแหน่งอย่างหวงซูอิงถึงกับอ่านไม่ออก  สมาชิกสภาฯอย่างจางเสี่ยวเฟิ่งก็ให้ความเห็นว่าการเขียนจดหมายหรือประกาศที่ดีจะต้องคำนึงด้วยว่าผู้รับสารอ่านออกหรือไม่

          ตลอดระยะเวลาที่ภาษาจีนพัฒนามาหลายพันปีนั้น ภาษาพูดมีการพัฒนาที่เปลี่ยนแปลงไปมาก สืบสร้างย้อนกลับไปแทบไม่เหลือเค้าโครงเดิม ตลอดจนไวยากรณ์ก็เปลี่ยนแปลงไปตามแต่ท้องที่ที่ใช้ มีเพียงแต่ภาษาเขียนโบราณที่ยังคงรักษาเอกลักษณ์เฉพาะตัวมาหลายพันปี ภาษาเขียนโบราณทำให้ผู้คนที่คุยกันคนละภาษาสามารถสื่อสารกันได้รู้เรื่องผ่านการเขียน เพราะเป็นโครงสร้างการเขียนที่ค่อนข้างตายตัว แต่ก็ไม่ได้ยากเกินความเข้าใจได้ แต่ทว่าหลังจากการเข้ามาของภาษาเขียนสมัยปัจจุบันและภาษาอังกฤษที่กลายเป็นภาษาโลก การใช้งานภาษาจีนแต่ตำแหน่งของภาษาเขียนโบราณก็ด้อยกว่าในสมัยโบราณมากมายหลายเท่าตัว

การคืนชีพของภาษาเขียนโบราณ

          การปลุกให้ภาษาเขียนโบราณพื้นคืนชีพมาเห็นหนึ่งในทอปปิกที่ทางกลุ่มผู้ฟื้นวัฒนธรรมจีนสมัยปัจจุบันให้ความสนใจไม่น้อย แทบจะกล่าวได้ว่าการปลุกภาษาจีนโบราณให้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาเป็นหัวใจสำคัญของกลุ่มนักวิชาการที่เคลื่อนไหวฟื้นฟูวัฒนธรรมจีน การที่ภาษาเขียนโบราณมีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานและลึกซึ้ง นักวิชาการจึงให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ  สืบเนื่องจากการพัฒนาของเศรษฐกิจของประเทศจีน ผู้คนในสังคมก็เริ่มให้ความสำคัญของการมีตัวตนและที่ยืนของวัฒนธรรมจีน ดังนั้นภาษาเขียนโบราณเองก็ยิ่งเพิ่มความสำคัญขึ้นไปอีก

 

          เผิง ฟู่ชุน ศาสตราจารย์ของคณะปรัชญาของมหาวิทยาลัยอู่ฮั่น ก็ได้ให้ความเห็นว่าทางการจีนจะต้องเพิ่มความเข้มข้นของเนื้อหาของบทเรียนภาษาจีนโบราณให้มากขึ้นกว่าเดิม ให้เนื้อหาบทเรียนภาษาจีนโบราณมากกว่าบทเรียนภาษาจีนกลางทั่วไป ทั้งยังนำเสนอว่าทางรัฐบาลควรจัดให้มีการสอบวัดระดับความรู้ภาษาจีนโบราณอย่างเป็นกิจลักษณะด้วยเช่นกัน

          สำหรับการฟื้นฟูภาษาจีนโบราณนั้น มองผิวเผินแล้วก็เหมือนกับเป็นการต่อต้านการนำเสนอให้ใช้ภาษาจีนปัจจุบันของ ดร.หูซื่อและกลุ่มนักวิชาการที่สนับสนุนนั่นเอง เกิดกลุ่มนักวิชาการฟื้นฟูมาต่อต้านนักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่ง การสนับสนุนให้ใช้ภาษาเขียนแบบใหม่นั้นส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมในวงกว้าง แต่ก็มิได้ส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมจีนโบราณมากมายนัก ทั้งยังเป็นการสร้างความรู้สึกใหม่ของภาษาจีนโบราณเพิ่มขึ้นอีกด้วย กล่าวคือ ยิ่งทำให้ผู้คนรู้สึกว่าภาษาโบราณมีคุณค่าต่อวัฒนธรรมจีนเป็นอย่างมาก เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้รู้สึกว่าการสืบทอดวัฒนธรรมจีนมีความครบถ้วน ครบครันมากขึ้น ดังนั้นการฟื้นฟูของภาษาจีนโบราณนี้จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะยกความดีความชอบบางส่วนให้การสนับสนุนให้ใช้ภาษาเขียนรูปแบบใหม่

          การฟื้นฟูภาษาจีนโบราณให้กลับมาคืนชีพอีกครั้งในประเทศจีนเริ่มขึ้นเมื่อยุค 80 ของศตวรรษที่ 20 โดยการฟื้นฟูครั้งนี้เริ่มต้นโดยนักศึกษาวัยรุ่นคนหนึ่งชื่อหลิวโจว โดยคำสนับสนุนของเค้าส่งผลให้ผู้ที่สนใจรวมกลุ่มขึ้นเป็นสมาคมฟื้นฟูและอนุรักษ์ภาษาจีนโบราณ

          บนโลกออนไลน์เอง ภาษาจีนโบราณได้รับการอนุรักษ์และสืบสานจากผู้ที่สนใจไม่น้อย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ พจนานุกรมภาษาจีนออนไลน์ของวิกิพีเดีย โดยเริ่มเผยแพร่ตั้งปี 2006 ในปัจจุบันมีคำศัพท์รวมกันกว่า 6000 หัวข้อ

 

ตารางเปรียบเทียบภาษาจีนโบราณกับภาษาจีนปัจจุบัน

การเปรียบเทียบ ภาษาจีนโบราณ ภาษาจีนกลาง
ความยาว สั้น กระชับ ได้ใจความ ใช้พยางค์เยอะกว่า ไวยากรณ์ละเอียดกว่า
การใช้งาน เป็นภาษาหนังสือ เขียนในสิ่งที่ปากพูดเป็นหลัก การเกลาสำนวนทำได้ง่ายความ
ความรู้สึกต่อภาษา งดงามสละสลวย เรียบง่าย เข้าใจง่าย
วากยสัมพันธ์และโครงสร้างทางไวยากรณ์ ยืดหยุ่น ไม่ตายตัว การเรียงลำดับคำค่อนข้างตายตัว
การใช้คำ 1 คำมูลพยางค์เดียวมีคำศัพท์ในตัวเอง มักเป็นคำ 2 พยางค์
การใช้คำ 2 อักษรเดียวมีหลายหน้าที่ อักษรต่างกันมีหน้าที่ต่างกัน
การใช้คำ 3
คำช่วยน้ำเสียง 已、矣、乎、也…… 了、吧、啊、嗎……
เครื่องหมายวรรคตอน น้อย เยอะมาก
หนังสืออ้างอิง 桃花源記》、《醉翁亭記》、《庖丁解牛》、《出師表》、《六國論》…… 魯迅吶喊》自序、朱自清《綠》、冰心《紙船》、舒乙《香港:最貴的一棵樹》……
การสืบทอด กรุจุกอยู่ในกลุ่มคนที่เคยศึกษาภาษาจีนโบราณ มีความรู้ด้านวรรณคดีในระดับหนึ่ง ใช้สื่อสารกันได้ภายในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก เด็กประถมก็สามารถอ่านออกได้ จีนกลุ่มต่างๆในโลกนี้สามารถใช้สื่อสารกันได้
วิธีการเรียน/ศึกษา ใช้วิธีท่องจำเป็นหลัก ใช้การกระจายคำศัพท์เพื่ออธิบาย ใช้การถอดอธิบายคำศัพท์ เพิ่มเติมกับการอธิบายโครงสร้างไวยากรณ์

ในแวดวงการศึกษาจีนมีเรื่องเล่าเกียวกับภาษาจีนโบราณอยู่ว่า

ฤดูใบไม้ร่วงปี 1934 ดร.หูซือ อธิบายข้อดีของการใช้ภาษาจีนปัจจุบันให้นักศึกษาในมหาวิทยาลัยปักกิ่งฟัง นักศึกษาคนหนึ่งก็ยืนขึ้น แล้วก็เถียงว่า

“อาจารย์หูครับ ภาษาเขียนปัจจุบันไม่มีข้อเสียบ้างเลยเหรอครับ?”  

ดร.หูซือก็หัวเราะร่าพลางว่า

“ไม่มี”

นักศึกษาคนดังกล่าวก็โต้กลับว่า

“ภาษาเขียนปัจจุบันมันเวิ่นเว้อนะครับ โทรเลขก็ใช้คำศัพท์เปลือง เสียงเงินเยอะ”

ดร.หูซือก็ตอบกลับว่า

“ก็ไม่เสมอไปนะ ไม่กี่วันก่อนสภาบริหารส่งโทรเลขมาหาผม ให้ผมไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภา แต่ผมไม่เคยทำก็เลยปฏิเสธไป ไหนนักเรียนลองแปลตามความหมายที่บอกสิ แล้วเรามาดูกันว่าภาษาจีนโบราณประหยัดคำกว่า หรือภาษาเขียนปัจจุบันประหยัดคำกว่า”

ผ่านไปหลายนาที……… อาจารย์หูก็เลือกคำแปลที่สั้นที่สุดออกมา ความว่า

“才学疏浅,恐难胜任,不堪从命。”  ใช้ทั้งสิ้น 12 อักษร

(ความรู้ตื้นเขิน มิกล้าดำรงตำแหน่ง)

แต่ภาษาเขียนปัจจุบัน เหลือแค่ 5

干不了,谢谢。 (ทำไม่ได้ ขอบคุณ)

แต่ทว่าในความเป็นจริงแล้ว สามารถใช้แค่ว่า “敬谢不敏” หรือ “谢不敏” เพื่อแสดงความหมายข้างต้นได้ สั้นและกระชับกว่า และลึกซึ้งและมีมารยาทกว่าด้วย

ในระยะเวลาไกล้เคียงกัน หวงข่าน ผู้ซึ่งเป็นนักอนุรักษ์ภาษาจีนโบราณ ขณะที่เขาเข้าสอนวิชาทฤษฎีวรรณคดีที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ทุกครั้งก็จะมีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงข้อเสียของภาษาเขียนปัจจุบัน จากนั้นจึงค่อยอธิบายภาษาเขียนโบราณ ในคาบการสอนระยะเวลา 50 นาทีนั้น โดยปกติ 30 แรกใช้วิจารณ์ภาษาเขียนปัจจุบัน  

          มีครั้งหนึ่งที่กำลังสอนอยู่นั้น เขากำลังอธิบายความสั้นกระชับของภาษาจีนโบราณให้นักเรียนฟัง หวงข่านก็ยกตัวอย่างที่ชัดเจนเช่นเรื่องของหูซื่อเอง

          ตอนที่ภรรยาของ ดร.หู เสียไป ทางบ้านก็โทรเลขมาแจ้งข่าวว่า “ภรรยาคุณเสียชีวิตแล้ว รีบกลับบ้านด่วนเลย” “你的太太死了,赶快回家啊” ใช้อักษรไป 11 ตัวอักษร ถ้าหากเป็นภาษาจีนโบราณก็จะใช้แค่ 妻丧速归 “เมียเสีย กลับด่วน” ลดไป ⅔ ส่วนเลยทีเดียว

          สรุปแล้ว ภาษาโบราณกระชับและเรียนง่ายกว่าภาษาเขียนปัจจุบัน ปกติแล้ว บทความภาษาอังกฤษ 1000 คำแปลเป็นภาษาจีนปัจจุบันได้ 1400 ตัวอักษร หากแต่ถ้าแปเป็นภาษาจีนโบราณก็ใช้แค่ไม่กี่ร้อยตัวอักษรก็ครบถ้วนกระบวนความ

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น

error: Content is protected !!